29 ก.ค. Mono Material Packaging บรรจุภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
ในยุคปัจจุบันนี้ผู้บริโภคทั่วโลกโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มหันมาใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้จากพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เปลี่ยนแปลงไป เจ้าของแบรนด์สินค้าเองต่างก็คำนึงถึงปลายทางของสินค้าหลังการใช้งานมากขึ้น หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นแนวปฎิบัติของทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้ผลิตสินค้า เจ้าของแบรนด์สินค้า ผู้ใช้งานสินค้า ไปจนถึงปลายทางการจัดการหลังการใช้งานสินค้า
เมื่อกล่าวถึงบรรจุภัณฑ์พลาสติกในปัจจุบัน ซึ่งเป็นกลุ่มประเภทสินค้าที่มีการใช้วัสดุพลาสติกสูงที่สุดและใช้งานกันอย่างแพร่หลายเนื่องจากประโยชน์ในการปกป้องคุณภาพและยืดอายุของสินค้าที่บรรจุภายใน จะพบว่าบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว หรือ Flexible Packaging มักผลิตจากฟิล์มที่ประกอบไปด้วยชั้นของวัสดุหลายประเภท ทั้งนี้ก็เพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายได้ในชิ้นเดียว ตัวอย่างเช่น ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและความชื้น มีความแข็งแรงเพียงพอที่จะรักษาสินค้าภายในได้ ทนต่ออุณหภูมิขณะใช้งาน และพิมพ์ได้สวยงาม เป็นต้น
โดยทั่วไปแล้วบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัวมักจะประกอบด้วยชั้นต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่ 3 ส่วนหลักๆ แตกต่างกันไป ผู้ผลิตจึงนิยมเลือกใช้วัสดุที่มีคุณสมบัติโดดเด่นและเหมาะสมกับการใช้งานในแต่ละส่วน ดังนี้
ชั้นนอกสุด ทำหน้าที่เป็นชั้นพิมพ์ ใช้ในการสื่อสารกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ฉลาก หรือสื่อสารแบรนด์สินค้า หรือเพื่อความสวยงาม โดยวัสดุสำหรับฟิล์มชั้นนี้จะต้องมีความแข็ง ทรงรูป (High Stiffness) ไม่ยืดย้วย (Low Elongation) เพื่อการพิมพ์ที่สวยงาม คมชัด ฟิล์มที่นิยมใช้ ได้แก่ PET, Nylon และ BOPP (Biaxially Oriented Polypropylene)
ชั้นกลาง ทำหน้าที่เป็น barrier หรือชั้นที่ป้องกันการซึมผ่านของอากาศและความชื้น ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้สินค้าภายในบางประเภทเสียหาย หรือเสื่อมสภาพ เช่น สินค้าที่อยู่ในรูปแบบผง ไม่ว่าจะเป็นกาแฟ ครีมเทียม ที่จะจับตัวเป็นก้อนได้ง่ายเมื่อโดนอากาศหรือความชื้น ฟิล์มที่นิยมใช้จึงต้องมีค่าการซึมผ่านของออกซิเจนและน้ำต่ำ (OTR; Oxygen Transmission Rate and WVTR; Water Vapor Transmission Resistance) ได้แก่ อลูมิเนียม และ Metalized Film หรือฟิล์มที่เคลือบด้วยไอระเหยของอลูมิเนียม เป็นต้น
ชั้นในสุด เรียกว่าชั้นซีล (Sealant) เพราะต้องสามารถซีลปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ได้แข็งแรง ไม่รั่วซึม อีกทั้งเป็นชั้นที่ให้ความแข็งแรงกับบรรจุภัณฑ์โดยรวม จึงต้องมีความเหนียวรับน้ำหนักได้ดี (Toughness) บางชนิดยังสามารถใช้ซีลทับไปบนเศษอาหารหรือน้ำมันที่อาจกระเด็นระหว่างบรรจุได้ดี วัสดุที่นิยมใช้จึงต้องมีจุดหลอมเหลวต่ำ เพื่อให้สามารถใช้ความร้อนต่ำและซีลปิดผนึกได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มกำลังการผลิต (productivity) ได้แก่ LLDPE (Linear Low Density Polyethylene) และ CPP (Cast Polypropylene)
ด้วยความที่บรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัวประกอบด้วยวัสดุหลายประเภทที่มีคุณสมบัติต่างกัน จุดหลอมเหลวต่างกัน และไม่สามารถแกะหรือดึงแยกออกจากกันได้ จึงไม่ตอบโจทย์การรีไซเคิล เพราะการรีไซเคิลให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จะต้องแยกเอาวัสดุประเภทเดียวกันมารีไซเคิลด้วยกัน แต่หากนำไปเข้ากระบวนการรีไซเคิลทั้งชิ้นจะทำให้พลาสติกรีไซเคิลที่ได้มีคุณสมบัติลดลง เนื่องจากจุดหลอมเหลวของวัสดุทั้ง 3 ชั้นที่แตกต่างกันมาก ยกตัวอย่างเช่น ซองขนมขบเคี้ยว หรือซองกาแฟ ซึ่งประกอบด้วยชั้น PET, อลูมิเนียม และ CPP หากนำไปรีไซเคิลโดยการหลอมด้วยอุณหภูมิต่ำ ชั้นอลูมิเนียมที่มีจุดหลอมเหลวสูงก็จะไม่ละลาย เหลือเป็นสิ่งปนเปื้อนในเม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่ได้ แต่หากนำไปหลอมด้วยอุณหภูมิสูง พลาสติกชั้น CPP ที่มีจุดหลอมเหลวต่ำก็จะเสื่อมสภาพ ทำให้ได้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลที่สูญเสียคุณสมบัติในการใช้งานไปนั่นเอง
จากความต้องการของตลาดที่ต้องการตอบโจทย์เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมารีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์จึงมองหาวัสดุทดแทน ซึ่งการผลิตบรรจุภัณฑ์ Mono Material ก็เป็นหนึ่งในทางเลือกในการแก้ไขปัญหานี้
หลักการของบรรจุภัณฑ์ Mono Material คือ การเลือกใช้วัสดุพลาสติกประเภทเดียวกันทั้งหมด เช่น PE ทั้งหมด หรือ PP ทั้งหมดมาผลิตเป็นฟิล์มชั้นต่าง ๆ ในบรรจุภัณฑ์ โดยสิ่งสำคัญคือต้องสามารถคงคุณสมบัติการใช้งานที่เทียบเท่ากับบรรจุภัณฑ์เดิมให้ได้ เกิดเป็นความท้าทายของผู้ผลิตวัสดุพลาสติกที่ต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติที่ดีขึ้นหรือการใช้สารเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อใช้ทดแทนวัสดุประเภทอื่นดังที่กล่าวมาได้
Mono Material เป็นแนวโน้มของบรรจุภัณฑ์เพื่อการรีไซเคิลที่น่าจับตามอง ผู้ผลิตเม็ดพลาสติกจากทั่วโลก ต่างก็มุ่งมั่นวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อมาช่วยแก้ไขปัญหานี้ สำหรับธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจีเองก็ได้วิจัยพัฒนา Mono Material Solution ทั้งที่เป็น PP และ PE เพื่อให้ครอบคลุมการใช้งานบรรจุภัณฑ์ส่วนใหญ่
เมื่อผู้ประกอบการทั้งผู้ผลิตและเจ้าของแบรนด์สินค้าต่างปรับตัวเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลี่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นแล้ว เราทุกคนในฐานะผู้บริโภคก็มีบทบาทที่ต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการใช้งานสินค้า เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยหลักการง่าย ๆ คือ ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น และทิ้งให้ถูก เพื่อให้วัสดุที่มีมูลค่าได้กลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่วนวัสดุที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ก็จะไม่ไปปะปน และได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีนั่นเอง
ที่มา: https://www.allaroundplastics.com/article/innovation/3072/
Sorry, the comment form is closed at this time.