11 มิ.ย. 5 อันดับ วัสดุ “รักษ์โลก” ใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม
แพ็กเกจจิ้งเครื่องดื่มเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายและได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการประเมินกันว่าในปี 2022 มูลค่าของสินค้าในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์จะสูงถึง 980.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ อย่างไรก็ตามกระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และความสนใจของสังคมที่สนับสนุนการใช้งานบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน ชวนให้คิดว่า “วัสดุที่เราใช้ผลิตภาชนะใส่เครื่องดื่มนั้น มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ?”
จากบทความที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ THE CONVERSATION ของ ศาสตราจารย์ เอียน วิลเลียมส์ และ อลิซ โบร้ค แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ได้นำเสนอผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของวัสดุซึ่งใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มทั้ง 5 ชนิด เอสซีจี เคมิคอลส์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศและระดับภูมิภาค จึงได้เรียบเรียงเนื้อหาขึ้นมาใหม่ไว้ในบทความนี้ และเรามาดูกันว่า “พลาสติก” นั้นจะถูกจัดอยู่ในอันดับที่เท่าไร
อันดับที่ 5 ขวดแก้ว
หลายคนอาจจะประหลาดใจว่าทำไมวัสดุอย่างแก้วถึงอยู่ท้ายสุดของการจัดอันดับ เพราะตามความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เข้าใจว่าแก้วนั้นน่าจะวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่จากผลวิจัยเผยให้เห็นว่า วัสดุที่เราคิดว่าส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้น กลับใช้วัตถุดิบและพลังงานตลอดทั้งกระบวนการมากที่สุดในการจัดอันดับนี้
การผลิตแก้วนั้นเริ่มต้นจากการขุดทรายแก้ว (silica sand) และโดโลไมท์ (dolomite) ซึ่งการทำเหมืองแร่ทั้งสองชนิดนี้สร้างมลพิษปริมาณมหาศาลและเป็นอันตรายต่อปอดอย่างมาก โดยคนงานที่อยู่ในเหมืองดังกล่าวมักเป็นโรคปอดจากฝุ่นหิน หรือโรคซิลิโคซิส (Silicosis) ขั้นตอนการหลอมแร่ทั้งสองนี้ก็จำเป็นต้องใช้พลังงานที่สูงมาก และเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ที่ใช้ก็เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นพลังงานสิ้นเปลืองที่ได้จาก น้ำมัน หินน้ำมัน ทรายน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ โดยในขั้นตอนนี้ยังมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกด้วย
จากการวิเคราะห์ของศาสตราจารย์ เอียน วิลเลียมส์ และ อลิซ โบร้ค แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน ระบุว่า “ขวดแก้วขนาด 1 ลิตร มีน้ำหนัก 800 กรัม ในขณะที่ขวดพลาสติกจะหนักประมาณ 40 กรัม นั่นหมายถึงการขนส่งบรรจุภัณฑ์ที่ทำมาจากขวดแก้วต้องใช้พลังงานมากกว่า และทำให้วัสดุชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนสูงถึง 90% เมื่อเทียบกับกระป๋องอะลูมิเนียม”
อันดับที่ 4 ขวดแก้วรีไซเคิล
หากเราคิดว่าวัสดุใด ๆ ก็ตาม ถ้ามีคำว่ารีไซเคิลอยู่ด้วยแล้วจะทำให้มันดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นั่นอาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะขวดแก้วรีไซเคิลเองก็ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 4 ของวัสดุรักษ์โลกที่ใช้ทำแพ็กเกจจิ้งเครื่องดื่ม
แม้ว่าจะไม่ต้องกลับไปเริ่มตั้งแต่การขุดเหมือง การสกัดแร่ การผลิต และการขนส่ง แต่การรีไซเคิลขวดแก้วก็ยังต้องใช้พลังงานในปริมาณที่สูง ก็คือการหลอมขวดแก้ว และการใช้พลังงานจำนวนมากก็มาพร้อมกับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่สูงตามไปด้วย ในระหว่างกระบวนใช้ซ้ำนี้เองอาจจะมีการเล็ดลอดของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นได้อีกครั้งด้วย
อันดับที่ 3 ขวดพลาสติก
พลาสติก คือ วัสดุที่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่สามของวัสดุยั่งยืนที่ใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ด้วยคุณสมบัติที่ แข็งแรง ทนต่อสารเคมี และมีน้ำหนักเบา ทำให้วัสดุนี้ใช้พลังงานที่น้อยลงในระหว่างการขนส่ง และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย นี่คือเหตุผลที่งานวิจัยดังกล่าวจัดอันดับพลาสติกไว้ในลำดับที่สาม
สำหรับ เอสซีจี เคมิคอลส์ ได้พัฒนา SMXTM Technology เทคโนโลยีการผลิตเม็ดพลาสติก HDPE คุณภาพสูงที่มีความแข็งแรงมากขึ้นกว่าเดิม โดยที่ยังคงคุณสมบัติเชิงกล (Mechanical Properties) ไว้ได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้สามารถลดปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกลง แต่ยังคงความแข็งแรงไว้ได้ เทคโนโลยีนี้สามารถผลิตเม็ดพลาสติก HDPE สำหรับหลากหลายการใช้งาน ตัวอย่างที่น่าสนใจ คือ ฝาขวดน้ำอัดลม HDPE รุ่นน้ำหนักเบาพิเศษ ที่ผลิตจากเม็ดพลาสติก SCG™ HDPE SX002J และ SX002JA สามารถลดปริมาณวัสดุตั้งต้นได้สูงสุดถึง 30% จึงช่วยลดการใช้พลังงานในการขึ้นรูป และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนส่งถึงมือผู้ใช้งาน
อันดับที่ 2 กระป๋องอะลูมิเนียม
สำหรับวัสดุรักษ์โลกที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มในอันดับที่สอง คือ อะลูมิเนียม สาเหตุที่ทำให้วัสดุนี้ประเภทนี้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะใช้พลังงานและทรัพยากรในการผลิตน้อยกว่า
อย่างไรก็ตามวัสดุอย่างอะลูมิเนียมเองก็ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะตามธรรมชาติอะลูมิเนียมไม่ได้เป็นแร่ธาตุบริสุทธิ์ แต่เป็นสารประกอบที่อยู่กับบอกไซต์ (Bauxite) ซึ่งต้องนำมาสกัด โดยขั้นตอนนี้สิ้นเปลืองพลังงานอย่างมากและอาจมีสารพิษที่อาจะเล็ดลอดและปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำได้
อันดับที่ 1 กระป๋องอะลูมิเนียมรีไซเคิล
การศึกษาของศาสตราจารย์ เอียน วิลเลียมส์ และ อลิซ โบร้ค แห่งมหาวิทยาลัยเซาท์แฮมป์ตัน พบว่า กระป๋องอะลูมิเนียมที่ถูกนำมาใช้งานซ้ำ เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หนึ่งในเหตุผลสำคัญก็คือ เราสามารถใช้อะลูมิเนียมซ้ำได้หลายรอบโดยที่คุณสมบัติยังคงเดิม และนั่นทำให้ไม่ต้องไปขุดแร่ขึ้นมาใหม่ รวมถึงตัดขั้นตอนการขนส่งแร่ที่ต้องใช้พลังงานออกไปได้เลย นอกจากนี้การรีไซเคิลอะลูมิเนียมยังช่วยประหยัดพลังงานได้สูงถึงร้อยละ 95
แต่เป็นเรื่องที่น่าสนใจเพราะเรามักไม่ค่อยนำอะลูมิเนียมกลับมาใช้งานซ้ำ ในสหราชอาณาจักรเองอัตราการรีไซเคิลแพ็กเกจจิ้งที่ทำจากวัสดุประเภทนี้มีเพียง 52%
แม้ว่าจะมีความพยายามในการจัดอันดับให้กับวัสดุ เพื่อชี้ให้เห็นว่าพวกมันมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยขนาดไหน แต่การส่งเสริมให้เกิดการรีไซเคิลวัสดุเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมากที่สุด และการให้ความรู้ว่าการแต่ละวัสดุมีคุณค่าและเราควรช่วยกันคัดแยกวัสดุหลังการใช้งานตั้งแต่ต้นทาง จะเป็นทางที่นำไปสู่การสร้างวิถีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่ง เอสซีจี เคมิคอลส์ เองก็ได้เป็นต้นแบบและผลักดันให้เกิดแนวปฏิบัติดังกล่าวภายใต้แนวคิด “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก”
ที่มา: https://www.scgchemicals.com/th/news-media/feature-story/detail/103?fbclid=IwAR1X6f28B815QLGsw9ALdaVAZKJS4KyDj6KtGuvtN1hAtM5zBCxdNSCKMbM
Sorry, the comment form is closed at this time.