15 ต.ค. 3 โจทย์ต้องเข้าใจ เลือกใช้ PACKAGING ยังไง ให้ได้ใจผู้บริโภคในยุค NEW NORMAL
ไม่ใช่แค่หุ้มห่อ! แต่ “แพคเกจจิ้ง” ที่ดี อาจช่วยต่อลมหายใจธุรกิจร้านอาหาร ตลอดจนพาแบรนด์เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้
นับเป็นเวลาปีกว่าแล้วที่เราทุกคนพยายามอยู่ห่างกันเพื่อความปลอดภัย ส่งผลให้พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์กลายเป็นความปกติไปโดยปริยาย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าตลอดปี 2564 จะมีออเดอร์อาหารออนไลน์ไม่น้อยกว่า 120 ล้านครั้ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ในปี 2562
แน่นอนว่าในการใช้บริการฟู้ดเดลิเวอรี่ นอกจากผู้บริโภคจะคาดหวังคุณภาพอาหารที่ดีไม่ต่างจากการรับประทานที่ร้านแล้ว “แพคเกจจิ้ง” ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่หลายคนใช้พิจารณาว่าจะสั่งอาหารร้านนั้นๆ ซ้ำหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของความสวยงาม ความสะดวกในการใช้งาน และความสะอาดปลอดภัย เป็นต้น
วันนี้ NIA ได้ชวนคุณตั้ม ปฐมพงศ์ ดีปัญญา ผู้ก่อตั้ง “DezpaX” แพลตฟอร์มด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มครบวงจรมาร่วมแบ่งปันไอเดียแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร โดยเฉพาะกลุ่ม SME ว่าในยุคโควิดแบบนี้ ผู้ประกอบการควรเลือกแพคเกจจิ้งจากปัจจัยอะไรบ้าง ให้ร้านเองก็ได้ประโยชน์และผู้บริโภคได้รับความคุ้มค่าและความประทับใจ ถ้าพร้อมแล้วไปอ่านกันเลย!
#FUNCTION การใช้งานยืนหนึ่ง
ฟังก์ชันการใช้งานคือส่วนพื้นฐานที่สำคัญที่สุด
การเลือกซื้อแพคเกจจิ้งต้องเลือกให้เหมาะสมกับอาหารที่เลือกใส่และใช้ตามความต้องการของผู้บริโภค เช่น เมนูอาหารชุด ก็ควรใช้กล่องที่มีหลายช่อง แพคได้แข็งแรงพร้อมทาน หรือเมนูข้าวญี่ปุ่นที่แฉะง่าย ก็มีกล่องแบบแยกชั้น นำเข้าไมโครเวฟได้ เพื่อความสะดวกและประสบการณ์ที่ดีต่อผู้บริโภค
แถมในช่วงโควิดก็มีโจทย์ให้ร้านอาหารต้องปรับตัว จากการล็อกดาวน์ตามมาตรการรัฐหลายๆ ครั้ง เดิมที่ขายหน้าร้านได้ ก็ต้องมาขายผ่านเดลิเวอรี่แทน แม้แต่ร้านปิ้งย่าง ชาบู ก็ต้องผันตัวขายผ่านเดลิเวอรี่เช่นกัน การเลือกใช้แพคเกจจิ้งแบบ Ready-to-eat หรือทำเป็น Box-Set ขึ้นมา ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมสูง เพราะแม้คนทั่วไปจะทำงานอยู่บ้าน แต่ก็อยากได้โมเมนต์ของอาหารที่ไม่ต่างกับการไปทานที่ร้าน ยิ่งแพคเกจจิ้งที่ฟังก์ชันดี ใช้งานได้สะดวก รองรับอาหารได้อย่างเหมาะสม ก็ยิ่งมีโอกาสทำให้ผู้บริโภคอยากกลับมาซื้อซ้ำในครั้งต่อๆ ไป
#EMOTION อารมณ์ต้องได้
แพคเกจจิ้งที่สวยงามคือสะพานเชื่อมความรู้สึกให้คนรักร้านคุณมากขึ้น
ในยุคโซเชียลที่ทุกคนถ่ายภาพอาหาร อัปสตอรี่กันทุกวันจนเป็นเรื่องปกติ ถ้าร้านไหนออกแบบแพคเกจจิ้งดีก็ช่วยสร้างแรงดึงดูดใจให้คนซื้อมากขึ้น และในทางเดียวกันถ้าคุณมีเรื่องราวที่อยากเล่าบนเมนูนั้นๆ สร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ก็สามารถสื่อสารได้ผ่านแพคเกจจิ้ง เป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าและเพิ่มกำไรอีกทางหนึ่ง “ความรู้สึกร่วม” จึงกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนแพคเกจจิ้ง
แล้วจะออกแบบอย่างไรให้ตรงใจผู้บริโภค เหมาะกับเทรนด์ในช่วงนี้ คุณตั้มได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมจากข้อมูลของแพคเกจจิ้งที่ถูกสั่งซื้อมากที่สุดในแพลตฟอร์มไว้สองส่วนด้วยกัน ได้แก่ สีที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ “สีน้ำตาล” ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เห็นแล้วผ่อนคลาย ใกล้ชิดธรรมชาติ รักษาความสะอาดง่าย และสไตล์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ สไตล์ “มินิมอล” เป็นสไตล์ที่คนชื่นชอบและช่วยส่งเสริมให้โลโก้และเรื่องเล่าของร้านโดดเด่นขึ้นมา
แต่ถ้าไม่มีความรู้ด้านการออกแบบเลย DezpaX ก็มีบริการช่วยออกแบบแพคเกจจิ้ง โดยผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเป็นร้านเล็กหรือร้านใหญ่ก็สามารถเข้ามาปรึกษาได้
#COST ต้นทุนเหมาะสม
“เงิน” คือเส้นเลือดใหญ่ของการทำธุรกิจ
ปัจจัยด้านราคาต้องบาลานซ์ให้ดี ต้นทุนของแพคเกจจิ้งที่เหมาะสมคือ “ไม่ควรเกิน 5 – 10% ของราคาอาหาร” เพราะถ้าแพงเกินไปก็ทำให้ได้กำไรลดลง เป็นการสร้างต้นทุนในร้านให้สูงขึ้น หรือหากราคาถูกเกินไป ก็อาจได้แพคเกจจิ้งที่ไม่มีคุณภาพหรือไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภค ผู้ประกอบการร้านอาหารทุกคนจึงควรคำนวณต้นทุนแพคเกจจิ้งให้เหมาะสม ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อแพคเกจจิ้งในแต่ละครั้ง
DezpaX เป็นอีกบริการหนึ่งที่จะเข้ามาช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารในส่วนนี้ เพราะมีบริการครอบคลุมทุกด้าน ให้บริการตั้งแต่ ให้คำปรึกษาด้านแพคเกจจิ้ง การออกแบบ งานพิมพ์ ไปจนถึงบริการส่งแพคเกจจิ้งอาหารถึงหน้าร้านทั่วประเทศไทย แถมมีแพคเกจจิ้งให้เลือกหลากหลายครอบคลุมทุกประเภทอาหาร เช่น แก้วกาแฟ กล่องอาหาร ถุงสำหรับเดลิเวอรี่ ช้อนส้อม หลอด ทิชชู่ และอีกหลายรายการ ทำให้ประเมินค่าใช้จ่ายได้ง่าย จบ ครบ ในที่เดียว ไม่ต้องค้นหาที่ไหนเพิ่ม โดยปัจจุบัน DezpaX มีลูกค้ากว่า 5,000 ราย ซึ่งมีตั้งแต่ SME ที่เป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ไปจนถึงเชนร้านอาหารใหญ่ที่ทุกคนรู้จักกันดี ยิ่งเป็นเครื่องหมายการันตีได้ว่า เป็นตัวจริงด้านแพคเกจจิ้งสำหรับร้านอาหาร
ที่มา: https://www.nia.or.th/DezpaX
Sorry, the comment form is closed at this time.