19 ก.ค. แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก 2564-2566
ปี 2563 ทั่วโลกเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ส่งผลต่อวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเราได้เห็นบทบาทของพลาสติกที่เข้ากับวิถีชีวิตยุคใหม่ นับจากนี้อีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมพลาสติกยังคงมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และมีพลาสติกรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ความก้าวล้ำของอนาคต
เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น ดึงอุตสาหกรรมพลาสติกไทยสดใส
หลังเผชิญภาวะซบเซาในปี 2563 คาดว่าระหว่างปี 2564-2566 ยอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะขยายตัว 2.0-3.0% ผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและโลก โดยเฉพาะการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ภาคก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีสัดส่วนการใช้พลาสติกรวมกันเกือบ 80% ของผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศ สำหรับปัจจัยท้าทายในช่วง 3 ปีข้างหน้า ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบโลกซึ่งเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของเม็ดพลาสติก ต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น และกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมทั่วโลก
คาดการณ์สภาพตลาดอุตสาหกรรมพลาสติก
ปี 2564-2566 ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกโลกจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.0-3.0% ต่อปี ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (IMF คาดเศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.2% 4.2% และ 3.8% ในปี 2564, 2565 และ 2566 ตามลำดับ) ด้านราคาเม็ดพลาสติกมีแนวโน้มทรงตัวระดับต่ำตามราคาน้ำมันดิบโลก ซึ่ง EA ประเมินราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจนถึงปี 2566 สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้าคาคว่จะฟื้นตัวในช่วง 2.5-4.0% ต่อปีส่งผลให้อุปสงค์ผลิตภัณฑ์พลาสติกของอุตสาหกรรมต่อเนื่องเติบโตในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะ อุตสหกรรมบรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ก่อสร้าง ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องมือแพทย์ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกือบ 80% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ศูนย์วิจัยกรุงศรีคาดว่ายอดขายผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% ต่อปี ขณะที่ปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้น 2.0-3.0% 6 ต่อปี โดยมีปัจจัยหนุนด้านอุปสงค์ในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม
บรรจุภัณฑ์พลาสติกสะอาด ปลอดภัย ยังเป็นที่ต้องการ
ผลสำรวจจาก Smithers Pira คาดว่าปี 2563-2567 ตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วโลกจะเติบโตเฉลี่ย 2.8% ต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับประเทศไทย คาดว่าปริมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้น 1.0% ต่อปี โดยอุตสาหกรรมหลายสาขามีแนวโน้มใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง ภาคค้าปลีกและธุรกิจ e-Commerce ขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีผลให้ความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกห่อหุ้มสินค้าเพื่อรักษาความสะอาดเพิ่มขึ้น อาทิ ถุงพลาสติก กระสอบพลาสติก พลาสติกแผ่น และฟิล์มพลาสติก
เทรนด์รักสุขภาพหนุนพลาสติกทางการแพทย์เติบโตต่อเนื่อง
หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสุขอนามัยมากขึ้น รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ช่วยหนุนความต้องการชิ้นส่วนพลาสติก พลาสติกแผ่นและฟิล์ม หลอดพลาสติก บรรจุภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่ามูลค่าการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์ในประเทศมีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 3.0% ในปี 2563 ขณะที่มูลค่าส่งออกจะเติบโตเฉลี่ย 4.2% ต่อปี
Composite Plastic พลาสติกแห่งอนาคต
ความก้าวหน้าของนวัตกรรมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต อาทิ อากาศยาน และ ยานยนต์สมัยใหม่ ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการพลาสติกคอมโพสิท (Composite Plastic) มีเพิ่มขึ้น ด้วยคุณสมบัติคงทน แข็งแรง และน้ำหนักเบา จึงเหมาะกับการใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่ต้องการความปลอดภัยและมีมูลค่าเพิ่มสูง โดยสมาคมไทยคอมโพสิทคาดว่าความต้องการใช้พลาสติกคอมโพสิทจะเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่า คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาทภายในระยะเวลา 10 ปีข้างหน้า
ที่มา: http://polymersplace.com/article/%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%95%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%81-2564-2566-43
Sorry, the comment form is closed at this time.