03 ก.ย. อย่าให้พลาสติก OXO เป็นแค่รักษ์ที่หลอกลวง
ถ้าใครคุ้นๆ คำว่า “พลาสติกย่อยสลายได้” “ถุงใบนี้ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ” “ถุงนี้สามารถย่อยสลายได้ในแสงแดด” (ถ้าเป็นแดดเมืองไทยจะย่อยเร็วหน่อย) หรือ “degradable bag” “This bag is oxo-biodegradable” บลาๆๆ ที่ปรากฎหราบนถุงพลาสติกที่เรารับมา เสียใจด้วยจริงๆ คุณโดนความรักษ์หลอกลวงแล้วละ
เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจากพลาสติกธรรมดาที่พิเศษขึ้นด้วยการใส่สารเติมแต่งเพื่อให้เปราะมากขึ้น แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก (Fragmentation) เป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น จากหลักร้อยปีเหลือแค่ไม่กี่ปีแล้วก็จะปนเปื้อนเข้าไปในน้ำหินดินทราย หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตได้ง่าย แถมจะเอามาใช้ซ้ำก็ยุ่ยซะก่อน รีไซเคิลก็ไม่ได้เพราะเธอเปราะบางเกินไป
ความรักษ์ต้องห้าม
สหภาพยุโรป (EU) ได้จัดทำรายงานการศึกษาผลดีผลเสียของพลาสติกชนิด Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ถุงประเภทนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเลย ใช้ซ้ำก็ไม่เวิร์ก รีไซเคิลก็ไม่ได้ และมีมติให้จำกัดและเลิกใช้ถุงประเภทนี้ พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกแบนถุง OXO อีกด้วย และหลายประเทศก็ตอบรับทั้งนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บริษัทเอกชน เช่น Unilever Nestle แน่นอนว่าประเทศในเครืออียูก็จะห้ามใช้เช่นกัน น่าดีใจที่ประเทศไทยก็มีการตั้งเป้าที่จะห้ามใช้พลาสติกชนิด oxo ด้วยเช่นกัน แต่เป็นแค่การตั้งเป้าหมายเท่านั้นยังไม่ได้ออกมาตรการห้ามผลิตหรือห้ามจำหน่ายใดๆ ออกมา
แล้วแบบไหนถึงเป็นรักษ์แท้
พลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) เกิดจากกระบวนการแตกสลายด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน ไม่ได้เป็นพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพแต่เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกทั่วไป และมักใช้คำว่า “ย่อยสลายได้” หรือ “ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” เข้ามาช่วยเสริมให้ดูน่ารักษ์แต่แท้จริงแล้ว คำว่า Bio-Degradable ถูกใช้เพื่อแสดงถึงการแตกสลายด้วยน้ำและแสงแดดด้วย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพหมดอย่างสมบูรณ์ เพราะสุดท้ายก็ยังเหลือเยื่อใยเป็นชิ้นพลาสติกเล็กๆ ที่สามารถดูดซึมสารเคมีอันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyltrichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) รวมทั้งโลหะหนักอื่นๆ ที่อยู่ในดิน ในทะเล หรือถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต เมื่อความรักษ์เป็นพิษก็อาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือก่อเกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์
บทพิสูจน์ความรักษ์ที่แท้จริงก็ต้องมีหลักฐานมายืนยันว่า เป็นไปได้ตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม (สมอ.) นั่นคือ มอก. 17088-2555 หรือมาตรฐานสากล ISO 17088 หรือ EN 13432 ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics) อย่างชัดเจนว่าเป็น
“พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษหลงเหลือไว้”
ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อรับรองคุณสมบัติของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ง่ายๆ เลยก็คือ ถ้าเป็นพลาสติกน่ารักษ์ของแท้ จะต้องย่อยสลายโดยมีจุลินทรีย์เข้ามาช่วยกินและย่อยสลายออกมาในระหว่างที่เกิดกระบวนการหมักเป็นปุ๋ยโดยไม่ทิ้งสารพิษใดๆ เหลืออยู่ แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ได้ง่ายมากขึ้นก็สังเกตได้ที่ตรารับรองมาตรฐานความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาการันตี
รักษ์แท้หน้าตาแบบไหน
รักษ์แท้ทั้งทีต้องรักษ์ให้สุดอย่างพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตร สามารถปลูกทดแทนได้ในระยะเวลาสั้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics) เมื่อนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธีก็จะสามารถย่อยสลายได้ตามสภาวะที่เหมาะสมในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศ
ความรักษ์ต้องการการดูแล
สุดท้ายนี้อย่าลืมดูแลรักษ์แท้ให้ถูกต้อง หลังจากใช้งานเสร็จต้องคัดแยกพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่การทำปุ๋ยหมักเพื่อให้ย่อยสลายเป็นสารปรับปรุงดิน อย่างการจัดการในจุฬาฯ ที่มีการแยกถังสำหรับใส่แก้ว zero-waste cup เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักกลับมาบำรุงดินส่งต่อความรักษ์ให้ต้นไม้ในจุฬาฯ งอกงามต่อไป
อ้างอิงข้อมูลจาก
ข้อกําหนดพลาสติกสลายตัวได้ มาตรฐานเลขที่ มอก. 17088 – 2555
EU takes action against oxo-degradable plastics
Over 150 organisations back call to ban oxo-degradable plastic packaging
“Bioplastics” แท้จริงเป็นอย่างไร
การศึกษาการเปรียบเทียบระหว่างพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและพลาสติกที่ย่อยสลายได้แบบออกโซ
cover illustration by Navapan Assavasuntakul
Sorry, the comment form is closed at this time.