25 ก.ค. สงสัยกันไหม ? พลาสติกชนิดใดใช้ห่ออาหารที่คุณกิน
Highlights:
-
ในการรองรับของเหลวปริมาณเดียวกัน ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า และแข็งแรงกว่า จึงทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกนั้นง่ายกว่า และปลอดภัยกว่าต่อการขนส่ง
-
หมายเลข 1 – 7 ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิด บ่งบอกถึงคุณสมบัติของพลาสติกที่แตกต่างกัน เหมาะกับการนำไปใช้ประโยชน์แตกต่างกัน
สำหรับอาหารที่เรากินเหลือนั้น หลายคนอาจจะนำมันเก็บเข้าตู้เย็นพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ที่ทางร้านให้มา หรือเลือกจะถ่ายอาหารที่เหลือมาลงไว้ทัปเปิ้ลแวร์แก้ว แต่บางคนก็ใช้ “พลาสติก” เพื่อช่วยยืดอายุอาหารให้กินได้อีกในมื้อถัดไป
แล้วพลาสติกช่วยถนอมอาหารได้จริง ๆ เหรอ ?
พลาสติกช่วยถนอมอาหารได้อย่างไร
การจะตอบข้อสงสัยนี้ต้องเริ่มกันที่คุณสมบัติเฉพาะตัวของพลาสติกก่อน ข้อแรกคือ พลาสติกมีน้ำหนักที่เบากว่าวัสดุประเภทอื่นๆ รู้ไหมว่าพลาสติกน้ำหนักแค่ 2 ปอนด์ สามารถรองรับของเหลวปริมาณ 10 แกลลอนได้อย่างสบายๆ เมื่อเทียบกับวัสดุประเภทอื่นๆ เช่น เหล็กที่ต้องใช้เหล็กน้ำหนักถึง 8 ปอนด์ หรือแก้วที่ต้องใช้แก้วน้ำหนักถึง 40 ปอนด์ ในการจะรองรับของเหลวปริมาณเดียวกัน ด้วยน้ำหนักที่เบากว่า และแข็งแรงกว่า จึงทำให้บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกนั้นง่ายและปลอดภัยต่อการขนส่งมากกว่าวัสดุอื่น ๆ
นอกจากนี้ พลาสติกยังช่วยปกป้องอาหารจากความเสียหายได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสียหายจากแบคทีเรีย และจุลินทรีย์ หากอาหารจานไหนที่ทานไม่หมดได้รับการห่อคลุม หรือเก็บไว้ในกล่องพลาสติกแล้วล่ะก็ พลาสติกจะช่วยชะลอการเน่าเสียของอาหารลงได้ และช่วยยืดอายุอาหารให้ยาวนานขึ้น จากเหตุผลทั้งหมดที่เล่ามา จึงไม่แปลกเลยว่าทำไมพลาสติกถึงกลายเป็นวัสดุที่เหมาะสุด ๆ ในการผลิตหีบห่ออาหาร
ว่าแต่เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมพลาสติกถนอมอาหารถึงมีหลายชนิดนัก และหมายเลข 1 – 7 ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดหมายถึงอะไรกันแน่ เราลองไปหาคำตอบกันดีกว่า
ประเภทของพลาสติกถนอมอาหาร
โดยทั่วไปแล้วเราสามารถแบ่งประเภทของหีบห่อพลาสติกได้ตามเลข 1 – 7 ที่ปรากฏบนบรรจุภัณฑ์ โดยแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไปตามองค์ประกอบเฉพาะของเม็ดพลาสติก ซึ่งพลาสติกที่เราจะเล่าถึงในบทความนี้ก็ขอหยิบยกมาเฉพาะชนิดพลาสติกยอดฮิตที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารครับ
เริ่มกันที่หีบห่อที่มีสัญลักษณ์หมายเลข 1 หมายถึง Polyethylene Terephthalate (PET or PETE) พลาสติกชนิดนี้มีคุณสมบัติในการปกป้องอาหารจากการสัมผัสกับคาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจน และน้ำ พบมากในการผลิตขวดน้ำอัดลม และห่อพลาสติกขนมขบเคี้ยวที่ต้องการจะรักษาความกรุบกรอบของขนม
พลาสติกยอดฮิตอีกชนิดก็คือ High Density Polyethylene (HDPE) หรือที่ปรากฏเป็นหมายเลข 2 บนบรรจุภัณฑ์ พลาสติกชนิดนี้มีความทนทานสูงมาก ๆ ยากต่อการละลาย จึงเป็นที่นิยมสุดในการผลิตพลาสติกถนอมอาหาร รวมถึงใช้ในการผลิตกล่องมาการีน และขวดน้ำอีกด้วย
ส่วนบรรจุภัณฑ์ที่มีหมายเลข 6 กำกับนั้นหมายถึง Polystyrene (PS) พลาสติกชนิดนี้จะมีคุณสมบัติในการปกป้องความชื้นไม่ให้เข้าถึงตัวอาหาร อีกทั้งยังมีความแข็งที่สูงมาก ๆ โดยส่วนมากจะใช้ผลิตเป็นถาดอาหาร บรรจุภัณฑ์ และช้อนส้อมพลาสติกทิ้งได้ที่เรามักใช้กันในปาร์ตี้นั่นเองครับ
ปัจจุบันและอนาคตของการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อาหาร
ทุกวันนี้ทั่วโลกผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกถึง 78 ล้านตัน สถิติระบุว่ามีเพียง 14 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ยังมีบรรจุภัณฑ์อาหารอีกมหาศาลที่ยังไม่ถูกรีไซเคิล และส่วนมากก็กลายเป็นขยะพลาสติกลอยตัวอยู่ในมหาสมุทร จากการสำรวจพบว่า ส่วนมากขยะเหล่านี้มาจากประเภทที่กำลังพัฒนาซึ่งยังไม่มีระบบรีไซเคิลที่ครอบคลุมพอ ปัญหานี้ดูจะย่ำแย่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อมีการผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกมากขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับการตระหนักรู้ต่อความสำคัญของการรีไซเคิลที่ยังคงไม่เข้มแข็งพอ คำถามที่ตามมาคือ แล้วอนาคตของบรรจุภัณฑ์พลาสติกจะเป็นอย่างไร
โชคดีที่ปัญหาดังกล่าวได้รับความสนใจจากทั่วโลก อย่างนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกาเองก็ได้ผลิต ‘Shrilk’ พลาสติกโปร่งใสต้นทุนต่ำ ย่อยสลายได้ ผลิตขึ้นจากสารไคโตซาน (Chitosan) ที่สะกัดจากเปลือกกุ้งและปู โดย Shrilk สามารถผลิตเป็นแผ่นฟิล์มพลาสติกได้นั่นเอง
นอกจากนี้ MonoSol บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกาก็ได้คิดค้นโพลีเมอร์ที่สามารถย่อยสลายในน้ำได้ ซึ่งความน่าสนใจของโพลีเมอร์ชนิดนี้คือมีความปลอดภัยต่ออาหาร อีกทั้งยังไม่ส่งผลใด ๆ ต่อกลิ่น รสชาติ หรือเนื้อสัมผัสของอาหารอีกด้วย โดยในปัจจุบันก็เริ่มมีบริษัทผลิตอาหารใช้โพลีเมอร์ชนิดพิเศษนี้แล้วเช่นกัน
แต่ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะมีความพยายามในการผลิตพลาสติกย่อยสลายได้มากขึ้นเรื่อย ๆ นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะรอให้ถึงวันที่พลาสติกทุกชนิดบนโลกสามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองโดยละเลยการรีไซเคิลไป
และอย่างที่เล่ามาข้างต้นครับ พลาสติกนั้นมีหลายประเภท แต่ละประเภทก็มีกระบวนการรีไซเคิลแตกต่างกัน ขวดเครื่องดื่ม 1 ขวดอาจประกอบไปด้วยพลาสติกหลายแบบ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงจึงไม่ใช่แค่การรีไซเคิล แต่คือการทำความเข้าใจวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง ก่อนทิ้งขวดน้ำ 1 ขวด เพื่อน ๆ จึงจำเป็นต้องรู้ก่อนว่า ฝาขวด ตัวขวด และฉลากพลาสติกนั้นทำจากพลาสติกแบบไหน รีไซเคิลได้หรือไม่ และจัดการแยกประเภทพลาสติกก่อนทิ้งมันลงถังขยะ เพื่อนำไปสู่การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ขยะที่แยกแล้วก็สามารถนำกลับมาใช้งานต่อให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์ได้อีกครั้งนั่นเอง
อ้างอิง:
- https://www.chemicalsafetyfacts.org/types-plastic-food-packaging-safety-close-look/
- https://www.plasticpackagingfacts.org/plastic-packaging/resins-types-of-packaging/
- https://www.cosmofilms.com/blog/uses-and-types-of-plastic-films-for-food-packaging/
- www.choice.com.au/food-and-drink/food-warnings-and-safety/plastic/articles/plastics-and-food
- https://on.natgeo.com/2XI3z4O
- https://www.greenpeace.org/thailand/story/2242/plastic-101/
Sorry, the comment form is closed at this time.