14 ก.พ. ผ่า 8 เทรนด์บรรจุภัณฑ์มาแรงปี 2021 จากนักออกแบบไทยฝีมือระดับโลก
บรรจุภัณฑ์ (Packaging) เป็นอีกตัวช่วยสำคัญของการทำธุรกิจ ที่นอกจากจะทำหน้าที่หุ้มห่อปกป้องดูแลสินค้า จัดส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างปลอดภัยแล้ว ก็อย่างที่รู้ๆ กันว่า แพ็กเกจจิ้ง ในปัจจุบันยังมีส่วนกระตุ้นยอดขายให้กับแบรนด์ สร้างภาพลักษณ์ ไปจนถึงการส่งสารจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภคได้อย่างดีเยี่ยมด้วย นอกจากนี้ ยังเปลี่ยนไปตามกระแสความนิยมและความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นด้วย จึงนับเป็นอีกสิ่งที่ผู้ทำธุรกิจไม่ควรละเลย และให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าการผลิตสินค้าขึ้นมา
ส่องเทรนด์ออกแบบบรรจุภัณฑ์ Packaging Design Trends 2021
เทรนด์แพ็กเกจจิ้งมีอะไรน่าสนใจบ้าง การเติบโตของแพ็กเกจจิ้งไทยจะไปในทิศทางไหน อะไร คือ เทรนด์ต่อเนื่อง อะไรเป็นเทรนด์ใหม่ ไปฟังการวิเคราะห์ 8 เทรนด์บรรจุภัณฑ์ไทย ปี 2564 จาก “แชมป์ – สมชนะ กังวารจิตต์” นักออกแบบบรรจุภัณฑ์มือรางวัลกว่า 99 รางวัล ในเวทีโลก เจ้าของบริษัท Prompt Design
จากปีที่ผ่านมา คุณสมชนะ กังวารจิตต์ ได้คาดการณ์เทรนด์ของบรรจุภัณฑ์ในปีที่แล้ว (2020) ได้อย่างแม่นยำ เพราะแกได้ทดลองและทอสอบผลลัพธ์เองกับมือ เพราะประเทศไทยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเราไม่สามารถนำเทรนด์ต่างประเทศมาใช้ได้แบบตรงไปตรงมา แต่ในปีนี้ คุณสมชนะ ก็ได้ทดลองและทดสอบอีกเช่นเคย โดยผลลัพธ์ที่ได้นั้นยังคงมีบางข้อของเทรนด์เดิม ซึ่งยังคงดำเนินต่อไป และอีกบางข้อที่เลือกเข้ามาใหม่ จะเป็นอย่างไรนั้น ไปลองดูบทวิเคราะห์กันเลย
1.Sustainable ต้องลงลึกมากขึ้น
บรรจุภัณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อมยังคงเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากปี 2562 ที่ผ่านมาแบรนด์ระดับโลกเกือบทุกแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ใหญ่ๆ ในไทยเอง เริ่มชูกลยุทธ์สิ่งแวดล้อมมาขับเคลื่อนชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นการที่ผู้ประกอบการ SME จะนำมาใช้บ้าง ต้องคิดมิติให้ลึกซึ้งกว่าที่เคยเป็นมา จะไม่ใช่แค่เรื่องของการเปลี่ยนวัสดุบรรจุภัณฑ์อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว แต่ต้องให้ความสำคัญกับทั้งบริบทและกระบวนการทำธุรกิจจึงจะสามารถเอาชนะใจผู้บริโภคได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ลดขยะให้เป็นศูนย์ การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การจัดทำ Carbon Footprint เพื่อแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของธุรกิจ จนถึงสุดท้าย คือ การจัดเก็บเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ หากผู้ประกอบการอยากทำให้แตกต่าง ต้องคิดให้ลึกและให้ครบ
2.Minimalist เมื่อข้อมูลมีเยอะมากเกินไป
ในปีนี้เราอาจได้เห็นคำว่า Bold and Clear เพื่อนำมาใช้ในงานดีไซน์ให้เรียบง่าย ขณะเดียวกันก็ได้ความชัดเจน แต่สำหรับในปีหน้าที่จะถึงนี้ เราจะใช้คำว่า Minimalist ในปัจจุบันโลกแห่งการสื่อสารจะต้องเร็วและง่ายขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทุกวันนี้ผู้บริโภคต่างได้รับข้อมูลโอเวอร์โหลดมากเกินไป ไม่ว่าจะออนไลน์ หรือออฟไลน์ก็ดี ดังนั้น การสื่อสารต่อไปเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจที่ง่ายและรวดเร็วที่สุด ทุกอย่างจะต้องมินิมอลที่สุด เพราะผู้บริโภคคงไม่มีเวลามากในการเสพข้อมูลเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้น เราควรรักษาสาระสำคัญเอาไว้ อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดออก ต้องให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในทันที
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในทุกวันนี้ คือ น้ำวิตามินต่างๆ ที่มีการสร้างความแตกต่าง เช่น การฉีดสีขวดให้เป็นสีฟ้า เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถแยกออกได้ทันทีในระยะเวลาไม่ถึง 3 วินาที ระหว่างน้ำเปล่ากับน้ำวิตามิน นี่คือ สาระสำคัญที่ต้องคงเอาไว้ หรือแม้กระทั่งการบอกถึงวิตามินที่ใส่ลงไป ก็เขียนบอกเป็นตัวใหญ่เลยจะได้เห็นอย่างชัดเจน เรียกว่าถ้าจะออกแบบบรรจุภัณฑ์ยุคนี้ต้องค่อยๆ เลือกสาระสำคัญที่ผู้บริโภคอยากรู้เอาไว้ อะไรที่ไม่สำคัญก็ใส่แค่เล็กๆ หรือไม่ใส่เลยก็ได้
3.Online Packaging โตตามคลื่น E-Commerce
ออนไลน์แพ็กเกจจิ้ง เป็นเทรนด์ที่ยังต้องมีไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเทรนด์คลื่นใหญ่ของโลก ซึ่งผู้บริโภคทุกวันนี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาสั่งของออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการจะทำบรรจุภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้ คำว่า “Unboxing Experience” หรือประสบการณ์การแกะกล่องต้องมาแล้ว โดยนอกจากการจัดส่งสินค้าใส่กล่องหรือพัสดุเรียบร้อยแล้ว ควรมีการใส่ Message อะไรบางอย่างเข้าไปด้วย รวมถึงดีไซน์ เพื่อสร้างความแตกต่าง เพื่อให้ผู้บริโภคแยกออกระหว่างกล่องทั่วไปกับการจัดส่งของแบรนด์ที่มาจากความตั้งใจพิถีพิถันในการจัดส่งสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค เพื่อแสดงถึงความขอบคุณที่เขามาเป็นลูกค้าเรา สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจในแบรนด์ได้
4.Different Shape โดดเด่นด้วยรูปทรงที่แตกต่าง
ปัจจุบันบ้านเรามีการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตสินค้านวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ดังนั้นแล้วหากเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ยังคงใช้บรรจุภัณฑ์ในรูปแบบเดิมๆ ผู้บริโภคคงแยกไม่ออกว่า ตัวไหนคือสินค้านวัตกรรมใหม่ ตัวไหนคือสินค้ารูปแบบเดิมที่มีอยู่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็คือ น้ำดื่มวิตามินต่างๆ เช่นเดิมที่บางยี่ห้อมีการทำออกมาเป็นลักษณะขวดเตี้ยๆ ป้อมๆ ทำให้ผู้บริโภคเห็นแล้ว สามารถแยกออกได้ทันที ดังนั้นการจะสร้างความแตกต่างของบรรจุภัณฑ์ให้เกิดขึ้นได้ ณ วันนี้แค่เพียงฉลากอย่างเดียวอาจไม่พอแล้ว ต้องลงลึกไปถึงการออกแบบรูปร่างและลักษณะของบรรจุภัณฑ์ด้วย ซึ่งทุกวันนี้มีซัพพลายเออร์ที่หันมาจับตลาด SME มากขึ้น การขึ้นโมถูกลง การสั่งขั้นต่ำก็ไม่ได้เยอะเหมือนสมัยก่อน ดังนั้นจึงเป็นอีกสิ่งที่ SME ควรใส่ให้ความสำคัญ เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้า
5.Influencer Collaboration : คน X แบรนด์
เรื่องของการ Collaborate หรือร่วมมือกันในการทำธุรกิจยังมีให้เห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนจากการจับมือระหว่างแบรนด์หรือธุรกิจด้วยกันเองมาเป็นการจับมือระหว่างแบรนด์ และ Influencer หรือบุคคลที่เป็นผู้นำทางความคิดในด้านต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากเหล่าบรรดา Influencer ต่างๆ เหล่านั้นล้วนมีฐานแฟนคลับเป็นของตัวเองมากจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็น Micro Influencer (ยอดผู้ติดตาม 5,000 – 100,000 คน) หรือ Macro Influencer (ยอดผู้ติดตาม 100,000 คนขึ้นไป) ซึ่งเมื่อแบรนด์มีการจับมือร่วมกับ Influencer ต่างๆ เหล่านั้น ก็จะได้ฐานแฟนคลับไปด้วยเลย ก็เหมือนกับติ่งเกาหลี ถ้าลองได้ชื่นชอบดารานักร้องคนไหนแล้ว ผู้บริโภคเหล่านั้นก็มักจะตามไปอุดหนุนแบรนด์นั้นๆ เสมอ ซึ่งปี 2564 เทรนด์นี้ต้องมาอย่างแน่นอน แบรนด์ที่เริ่มทำแล้วในเมืองไทย คือ น้ำแร่ Purra ที่มีการ X กับชมพู่ อารยา เอ ฮาร์เก็ต แฟชั่นไอคอนตัวแม่ในคอนเซปต์ “The Goddess of Styles” เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมานี้
6.Smart Packaging ช้าหน่อย แต่มาแน่
เทรนด์นี้เป็นอีกเทรนด์ที่ในต่างประเทศมีการนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว แต่สำหรับในบ้านเรายังมีให้เห็นน้อยอยู่ แต่ถึงยังไงก็คงเป็นเทรนด์ที่มาแน่นอน แต่จะเริ่มแคบลงและจับต้องได้ง่ายขึ้น โดยจะเริ่มจากง่ายๆ ที่คิวอาร์โค้ดก่อน จากนั้น AR จึงจะเริ่มเข้ามา แต่สำหรับในเมืองไทยคงต้องรอเวลาอีกสักพัก ยังไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนนำมาใช้ เพราะต้องรอให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการเหล่านี้เยอะขึ้นก่อน แต่ที่เริ่มทำมาแล้ว ก็คือ Nescafé ที่ให้สแกน AR เพื่อได้สัมผัสกับภาพเคลื่อนไหวแบบ 3D จากบรรดาสัตว์มงคลต่างๆ ที่เริ่มทำมาตั้งแต่ตรุษจีนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
7.Design For Good สร้างแบรนด์ให้เป็นคนดี
Design For Good ในที่นี้หมายถึงการสร้างแบรนด์ให้ดูเป็นคนดี มีการทำเพื่อสังคมด้วย ไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียวเสมอไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่ผ่านมา คือ การทำงานร่วมกันของน้ำดื่มสิงห์และมูลนิธิกระจกเงาที่ออกฉลากเป็นหน้าคนหาย ซึ่งเริ่มทำไปเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา ในเมืองนอกมีการทำกันมาสักพักใหญ่แล้ว เช่น องค์กร ACLU ซึ่งเป็นหน่วยงานที่คอยทำหน้าที่ปกป้องและรักษาสิทธิเสรีภาพให้คนอเมริกันตามรัฐธรรมนูญ ได้สร้างแคมเปญหนึ่งขึ้นมามีชื่อว่า “People Power Beer” โดยได้รวบรวมผู้ผลิตคราฟต์เบียร์จาก 32 รัฐให้ออกแบบฉลากของตัวเอง แต่ให้อยู่ภายใต้แนวคิดเรื่องอิสรภาพของคนอเมริกันและการเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมา ซึ่งเมื่อมีผู้บริโภคซื้อเบียร์เหล่านั้น รายได้ 10 เปอร์เซ็นต์จะถูกแบ่งให้มูลนิธิ ACLU เพื่อนำไปช่วยเหลือผู้คนต่อไป
นับเป็นเทรนด์ที่มีความน่าสนใจมาก เพราะทุกวันนี้ผู้บริโภคเองต่างมีกลุ่มก้อนสังคมเล็กๆ ของตัวเองเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่ากลุ่มคนผิวสี กลุ่ม LGBT ฯลฯ การที่แบรนด์เลือกให้ความสนับสนุนกลุ่มต่างๆ เหล่านั้น ก็เหมือนเป็นการแสดงจุดยืนว่ามีความใส่ใจกับเรื่องราวของสังคมที่เกิดขึ้นด้วย ไม่ได้มุ่งแต่ทำธุรกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากต้องเสียเงินซื้อเหมือนกัน สู้เลือกแบรนด์ที่ได้ช่วยเหลือสังคมด้วย ก็น่าจะดีกว่า
8.Universal Design รองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์
ปัจจุบันเนื่องจากไทยเราถือเป็นประเทศที่ติดอันดับมีประมาณผู้สูงอายุมากเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย โดยมีญี่ปุ่น คือ เบอร์ 1 และสิงคโปร์เป็นเบอร์ 2 ดังนั้นนี่คือสิ่งที่เราต้องเจออย่างแน่นอนในอนาคต ซึ่งในปีหน้าที่จะถึงนี้ก็จะได้เห็นความชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นแล้วในมุมของบรรจุภัณฑ์สิ่งที่ต้องคิดถึงผู้บริโภคมากขึ้น คือ ลักษณะทางกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสีที่ดูสบายตา ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจน การเปิด-ปิดที่ง่ายขึ้น อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการออกแบบบรรจุภัณฑ์กับผู้สูงอายุ คือ ทุกคนไม่อยากแก่ ดังนั้น หากสินค้านั้นผู้ใช้สินค้าเป็นผู้เลือกซื้อเอง ห้ามใส่รูปคนแก่เข้าไปเด็ดขาด แต่หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุประเภทผู้ป่วยติดเตียง ผู้ใช้ไม่ได้มาเลือกซื้อด้วยตัวเอง เราสามารถใส่ลายการ์ตูนคนแก่น่ารักๆ ลงไปได้ นอกจากนี้ในเรื่องของดีไซน์ควรบ่งบอกถึงความพรีเมียม เนื่องจากผู้สูงอายุเหล่านี้เป็นกลุ่มบุคคลที่มีความพร้อมทั้งชื่อเสียง สถานะทางสังคม และเงินทอง ถึงแม้วันนี้อาจยังไม่ค่อยเห็นผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นมาเพื่อผู้สูงอายุโดยเฉพาะมากเท่าไหร่นัก แต่ในอนาคตเร็วๆ นี้จะได้เห็นแน่นอน
และนี่คือ 8 เทรนด์แพ็กเกจจิ้ง ปี 2564 จากนักออกแบบมือรางวัลอย่าง สมชนะ กังวารจิตต์ ที่ได้นำมาฝากเอาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์และแนวทางสร้างสรรค์ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ผู้ประกอบการธุรกิจและเจ้าของแบรนด์ต่างๆ
Sorry, the comment form is closed at this time.