บรรจุภัณฑ์อาหาร ตอนที่ 6

บรรจุภัณฑ์อาหาร ตอนที่ 6

นอกจากขวดและฟิล์มแล้ว PET ยังสามารถนำมาขึ้นรูปเป็นถาด ด้วยการพัฒนา PET ให้โมเลกุลตกผลึก (Crystalline) กลายมาเป็น CPETหรือ Crystallized วัสดุ PET จะสามารถทนอุณหภูมิได้สูง จึงเหมาะสำหรับทำเป็นถาดบรรจุภัณฑ์อาหารใช้ได้ทั้งเตาอบและเตาไมโครเวฟ

พิจารณาจากในแง่ของสิ่งแวดล้อม PET นับได้ว่าเป็นพลาสติกเพียงไม่กี่ประเภทที่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเม็ดพลาสติกที่เป็นโมโนเมอร์ (Monomer) และทำการผลิตใหม่ได้ด้วยการใช้กระบวนการ Depolymerising วัสดุ PET ที่มีคุณภาพดีและมีมูลค่าข้อนค่างสูง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อผลิตสินค้าอย่างอื่นได้ เช่น ในเมืองไทยมีการนำเอาขวด PET น้ำดื่มกลับมาผลิตใหม่เป็นพรม ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ ทำให้ขวด PET ได้รับความนิยมใช้มากขึ้น และแย่งตลาดของขวด PVC นอกจากนี้ยังนิยมใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์แบบการ์ด

(4) โพลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinylchloride-PVC)

PVC เป็นพลาสติกที่สามารถแปรเปลี่ยนคุณสมบัติได้ โดยการเติมสารเคมีปรุงแต่ง (Additives) ต่างๆ เช่น Plasticizer, Modifier และ Fillers ทำให้ PVC นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่าอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ โดย PVC มักใช้ในรูปแบบของขวด ฟิล์ม และแผ่น แม้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีข่าวจะให้เลิกใช้ PVC ในบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากมีสารตกค้างของไวนิลคลอไรด์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดมะเร็งตับได้ แต่วิวัฒนาการทางด้านการผลิตในปัจจุบัน ทำให้สามารถผลิต PVC ที่มีไวนิลคลอไรด์ตกค้างน้อยกว่า 1 ส่วนในล้านส่วน (ppm) ส่งผลให้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจาก PVC นี้ ปลอดภัยสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร

ในแง่ของการผลิตฟิล์ม PVC จะผลิตยากกว่าฟิล์ม PE หรือ PP จุดเด่นของฟิล์ม PVC คือ ทนต่อน้ำมันและกันกลิ่นได้ดี ใส แข็งแรงทนทานต่อการเสียดสี ในขณะที่ความต้านทานต่อการซึมผ่านของความชื้นอยู่ในขั้นปานกลาง อุณหภูมิใช้งานของ PVC ไม่เกิน 90°C และถ้าอุณหภูมิการใช้งานเกินกว่า 137°C จะเริ่มเปลี่ยนคุณภาพ ขวด PVC สามารถใช้แทนที่ขวดแก้ว เนื่องจากเบากว่าและตกไม่แตก แต่ในระยะหลังถูกแย่งตลาดโดยขวด PET เนื่องจากเหตุผลทางด้านสิ่งแวดล้อมดังได้กล่าวมาแล้ว ส่วนแผ่น PVC มักใช้กับบรรจุภัณฑ์แบบการ์ด ประเภทบลิสเตอร์แพ็ค (blister packaging) เนื่องจากมีความใสและเหนียว

การใช้งานของ PVC กับผลิตภัณฑ์อาหาร

1) นิยมใช้ทำฟิล์มยืดสำหรับห่อเนื้อสัตว์สด ผักและผลไม้สด เนื่องจากความใสและมันวาว ทำให้เห็นผลิตภัณฑ์ได้ดีและอัตราการซึมผ่านของก๊าซและไอน้ำอยู่ในช่วงที่เหมาะสม

2) นิยมใช้ทำถาดบรรจุอาหารแห้ง เช่น ขนมปังกรอบ คุกกี้ ช็อกโกแลตและอื่นๆ เพื่อแบ่งเป็นสัดส่วนและป้องกันการแตกหัก

3) นิยมใช้ทำถาดหรือกล่องบรรจุอาหารสด4) นิยมใช้ทำขวดบรรจุน้ำมันพืชปรุงอาหาร

(5) โพลิสไตรีน (Polystyrene-PS)

PS พลาสติกจำพวก PS นี้ ใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์ โดยการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อนเป็นรูปถ้วย ถาด ในกรณีที่มีการเติมสารพองตัว (Blowing Agent) PS จะสามารถผลิตออกมาเป็นโฟมที่เรียกว่า EPS ซึ่งนำมาเป็นวัสดุป้องกันการสั่นกระแทก (Cushioning) เมื่อทำเป็นฟิล์ม PS จะมีความใสมากแวววับเป็นประกายแต่เนื่องจากฉีกขาดได้ง่ายและป้องกันการซึมผ่านความชื้นและก๊าซได้ต่ำการใช้ฟิล์ม PS จึงจำกัดอยู่เพียงการใช้ห่อสินค้า เช่น ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น หรือทำเป็นบลิสเตอร์แพ็ค ถาดที่ขึ้นรูปจากแผ่น PS จะมีความใสและแข็งแรงพอสมควร ในสภาวะปกติ PS จะเปราะจึงมีการพัฒนาด้วยการเติมสาร Butadine เพื่อเพิ่มความแข็งแรงซึ่งรู้จักกันในนามของ HIPS (High Impact Polystyrene)

การใช้งานของ PS กับผลิตภัณฑ์อาหาร

1) นิยมใช้ทำช่องหน้าต่างของกล่องกระดาษ

2) ใช้ห่อผัก ผลไม้สด และดอกไม้สด เนื่องจากความใสและยอมให้ก๊าซซึมผ่านได้ง่าย

3) ใช้ทำโฟมทั้งเป็นภาชนะบรรจุและแผ่นฉนวนกันความร้อน

4) นิยมใช้ทำถ้วย ถาด หรือแก้วน้ำสำหรับใช้ครั้งเดียว

5) ใช้ทำถาดหลุมสำหรับรองขนมปังกรอบ คุกกี้ ช็อกโกแลต และอื่นๆ ก่อนบรรจุใส่กล่อง

บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ต้องให้ความระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัยและการเลือกใช้มากที่สุด โดยเฉพาะใช้ในการบรรจุอาหารร้อน หรือต้องไปผ่านกระบวนการให้ความร้อนซึ่งอาจเป็นกระบวนการฆ่าเชื้อ การปรุงสุก หรือการอุ่นอาหารพร้อมกับบรรจุภัณฑ์อันตรายที่อาจเกิดจากการใช้ภาชนะพลาสติกอย่างไม่ถูกต้อง มีสาเหตุสำคัญมาจากการแพร่กระจายของสารจากภาชนะไปสู่อาหาร การแพร่กระจายนี้จะขึ้นกับชนิดของอาหารและพลาสติกที่ใช้ พร้อมทั้งสภาวะบรรยากาศที่อยู่รอบบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้พลาสติกต้องเลือกชนิดที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหารและเหมาะสมกับการใช้งาน เช่น บรรจุภัณฑ์ที่ต้องผ่านการอุ่นด้วยการนึ่ง หรือต้ม หรืออุ่นในเตาไมโครเวฟจะต้องทนทานต่ออุณหภูมิสูงได้ดี เป็นต้น การแพรกระจายของสารจะเกิดได้เร็วขึ้นเมื่อถูกความร้อน ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่แน่ใจในคุณภาพของภาชนะพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้หรือทำการทดลองโดยการนำเอาอาหารไปอุ่นหรือปรุงสุกในบรรจุภัณฑ์พลาสติก ถ้าเกิดการอ่อนตัวหรือภาชนะเสียรูปทรง หรือพลาสติกหลอมก็ไม่ควรจะนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกนั้นมาบรรจุอาหาร เพราะอาจเกิดอันตรายจากสารปนเปื้อนที่แพร่กระจายมาจากบรรจุภัณฑ์ได้

พลาสติกที่กล่าวมาทั้ง 5 ประเภทนี้ เป็นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร นอกจากพลาสติกดังกล่าวแล้วนี้ ยังมีพลาสติกบางประเภท เช่น PC, Polycarbonate, Cellulose เป็นต้น แต่มีการใช้เป็นจำนวนจำกัด จึงขอละไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้

บทสรุป

บรรจุภัณฑ์อาหารมีบทบาทสำคัญในการรักษาคุณภาพอาหารไม่ให้เน่าเสีย ซึ่งมีส่วนช่วยลดปริมาณของคนอดอยาก พร้อมทั้งช่วยให้มนุษยชาติได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางอาหาร ด้วยเหตุนี้ การควบคุมคุณภาพของอาหารให้คงที่และการเลือกประเภทของบรรจุภัณฑ์อาหารให้เหมาะสมกับประเภทของอาหารจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะบรรลุถึงจุดประสงค์ดังกล่าว

บรรจุภัณฑ์อาหารทำหน้าที่รักษาคุณภาพของอาหารได้ 2 แนวทางขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของอาหารที่ได้ผ่านขบวนการผลิตและแปรรูปผลิตผลทางเกษตร ยกตัวอย่างเช่น ซองใบชา ตัวบรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่เชิงรับ ด้วยการรวบรวมชาด้วยปริมาณที่เหมาะสมต่อการบริโภคต่อครั้ง โดยไม่ให้เกิดการรั่วจากตัวบรรจุภัณฑ์และมีการปกป้องรักษาคุณภาพของใบชาในระดับที่น้อย เนื่องจากใบชาได้รับการอบแห้งมาอย่างดีแล้ว ซึ่งเปรียบเทียบกับนมกล่อง บรรจุภัณฑ์จะทำหน้าที่เชิงรุกโดยการใช้ระบบการบรรจุที่ทำงานในสภาวะปลอดเชื้อเพื่อเก็บรักษาคุณภาพของนมไว้ได้นานตามต้องการ สืบเนื่องจากผลิตภัณฑ์นมมีโอกาสเน่าเสียได้ง่าย จึงจำต้องใช้เทคโนโลยีทางด้านบรรจุภัณฑ์ในการพัฒนาและแปรรูปอาหาร

บรรจุภัณฑ์อาหารที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารมีอยู่มากมายและสามารถแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ บรรจุภัณฑ์ผลิตจากเยื่อและกระดาษ บรรจุภัณฑ์โลหะ บรรจุภัณฑ์แก้ว และบรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์กระดาษนับได้ว่าเป็นวัสดุที่ใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากต้นทุนถูก สามารถทำการพิมพ์สอดสีได้ง่ายและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย บรรจุภัณฑ์โลหะใช้กันมากในกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อน นับเป็นบรรจุภัณฑ์เดียวที่มีความเป็นมาตรฐานทั่วทั้งโลก การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารกระป๋องใช้เงินลงทุนไม่สูงนักและยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับประเทศกำลังพัฒนาเนื่องจากบรรจุภัณฑ์กระป๋องแข็งแรงทนต่อการขนส่ง บรรจุภัณฑ์แก้วนับเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีใช้ในอุตสาหกรรมอาหารอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ขวดแก้วยังเป็นบรรจุภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำมากที่สุด บรรจุภัณฑ์อาหารที่นิยมใช้ประเภทสุดท้าย คือ บรรจุภัณฑ์พลาสติก ซึ่งมีความหลากหลายของประเภทพลาสติก เนื่องจากมีคุณสมบัติในการใช้งานที่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้รวบรวมชื่อย่อและชื่อที่ใช้เรียกในทางพาณิชย์ของพลาสติกที่นิยมใช้อุตสาหกรรมอาหารไว้ ณ ที่นี้

ที่มา: http://www.foodnetworksolution.com/news_and_articles/article/0116/%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3-%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-6

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

บันทึกการตั้งค่า