ทำไมขยะในถังรีไซเคิลถึงไม่ถูกวนอย่างที่หวัง

ทำไมขยะในถังรีไซเคิลถึงไม่ถูกวนอย่างที่หวัง

“ชิ้นนี้ทิ้งลงถังรีไซเคิลได้ไหมนะ?”

เชื่อว่าในหนึ่งวัน เราหลายคนคงมีคำถามนี้เกิดขึ้นกันมากกว่าหนึ่งครั้ง

แล้วหลังจากนั้น เราได้ทิ้งขยะชิ้นนั้นไปอย่างไร?

ถ้าเราตอบตัวเองด้วยการหย่อนขยะชิ้นนั้นลงไปในถังรีไซเคิล เป็นไปได้สูงว่าการกระทำนั้นอาจจะเข้าข่ายคำที่เรียกว่า “Wishcycling” (เพราะบนโลกใบนี้ อัตราการรีไซเคิลช่างต่ำเสียเหลือเกิน มีไม่ถึง 10% เท่านั้น)

Wishcycling คืออะไร?

ในภาษาอังกฤษ “Wishcycling” หรือ “Aspirational recycling” หมายถึงการ Wish the items be recycled หรือการคาดหวังว่าขยะที่ทิ้งลงไปจะถูกรีไซเคิล

หากหาข้อมูลเกี่ยวกับ Wishcycling ในสื่อต่างประเทศ เราจะเจอว่า มันคือการที่เราหวังดี คาดหวังว่าสิ่งของที่ทิ้งลงไปในถังรีไซเคิลนั้นจะถูกนำไปรีไซเคิล แต่จริง ๆ แล้วไม่สามารถรีไซเคิลได้ เนื่องจากมูลค่าไม่มากพอ หรือตัววัสดุไม่สามารถรีไซเคิลได้ (ซึ่งไม่ใช่ข้อมูลทั่วไปที่คนรับรู้) ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกเพิ่ม บางทีได้ไม่คุ้มค่า อาจจะทำให้เกิดการเหมารวมว่าถังนั้นรีไซเคิลไม่ได้เลยก็มี

Wishcycling สามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ ถ้ามองในบริบทประเทศไทย

  1. Wishcycling อาจจะเกิดจากเรื่องของวัสดุ คือเราเห็นว่าหลอดยาสีฟัน มันควรจะถูกรีไซเคิลได้นี่นา เพราะดูเป็นพลาสติก แต่ด้วยวัสดุที่ถูกผลิตมาเป็นแบบ Composite material ซึ่งเป็นการประกบแปะกันระหว่างพลาสติกกับอะลูมิเนียม ตัวพลาสติกตรงหลอดกับฝาก็ไม่ใช่ประเภทเดียวกันอีก ทำให้รีไซเคิลได้ยาก หรือไม่มีใครทำ

  2. Wishcycling โดยไม่ได้ดูเรื่อง water หรือ food content หรือความเลอะ เช่น ทิ้งแก้วชานมไข่มุกโดยไม่ได้เทน้ำข้างในออกก่อน ทำให้ขยะอื่นในถังเลอะเทอะ หรือเน่าเสียไปด้วย หลายครั้งการทำแบบนี้ทำให้ไม่สามารถคัดแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อได้ ถึงแม้ว่าตัวบรรจุภัณฑ์เอง หรือขยะในถังก่อนหน้าเป็นขยะที่ขายได้หรือรีไซเคิลได้ก็ตาม

 

ในประเทศไทย หลัก ๆ น่าจะเป็นแบบที่ 2 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างแตกต่างและเป็นปัญหามากกว่าแบบแรก

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร?

1. Wishcycling เรื่องวัสดุ: ทำให้ต้องใช้ทั้งเวลา คน และต้นทุนในการคัดแยกเพิ่ม ถ้าไม่คุ้มค่าที่ดำเนินงาน ถังนั้นอาจจะไม่ถูกรีไซเคิลก็ได้ เราจะสังเกตได้ว่าปัญหานี้ไม่ใช่ความผิดของผู้บริโภคที่ไม่สามารถแยกวัสดุรีไซเคิลได้ทั้งหมด เพราะเข้าใจได้ว่ามันค่อนข้างยากที่จะจำว่าขยะอะไรขายไปรีไซเคิลได้ราคาเท่าไหร่บ้าง เลยทำให้มักจะแยกกันแค่ “ขยะยอดฮิต” คือขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ และหลงลืมวัสดุอื่น ๆ โดยเฉพาะพลาสติกเจ้าปัญหาแบบต่าง ๆ

ปัญหานี้เกิดจาก 1) กลไกทางเศรษฐศาสตร์ ว่ามีความต้องการในวัสดุรีไซเคิลประเภทนั้นไหม ซึ่งจะส่งผลกับราคารับซื้อขยะรีไซเคิล 2) คุณสมบัติของตัววัสดุนั้นถูกออกแบบมาเพื่อรีไซเคิลจริง ๆ ไหม และผู้ผลิตได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการจัดการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากพอหรือเปล่า และ 3) ระบบการจัดการขยะของเราก็ยังมักจะขึ้นอยู่กับมูลค่าราคามากกว่าการใส่ใจต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมที่ต้องเสียไป เช่นบางที่มีถังสำหรับขยะทั่วไป ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระดาษ คำถามคือถ้าเป็นแก้วพลาสติกหนา PP ซึ่งขายได้ ควรทิ้งลงในถังไหน ทิ้งลงถังขวดก็ถูกคัดออก ทิ้งลงทั่วไปก็เหมือนได้ทางลัดไปบ่อขยะกับขยะเปื้อน ๆ แทน

2. Wishcycling เรื่องความสะอาด: ไม่ว่าตัววัสดุจะรีไซเคิลได้หรือไม่ หรือขายได้ราคามากน้อยเท่าไหร่ การทำให้ขยะในถังเละเทะ เน่าเสีย ส่งผลทำให้ไม่ถูกเลือกนำไปคัดแยกตั้งแต่แรก

ปัญหานี้เกิดจากความเข้าใจและการเรียนรู้ เราถูกสอนกันมานานว่าให้ “ทิ้ง” ขยะลงถัง แต่การ ”แยก” ขยะที่เป็นส่วนสำคัญ กลับถูกมองข้ามไป พอมีการโปรโมตเรื่องการแยก ก็เน้นแต่เรื่องวัสดุและ “ขยะยอดฮิต” ที่ขายได้ง่าย แต่ไม่เคยถูกบอกว่าด่านแรกคือ “ต้องสะอาดก่อน” และยังมีขยะอีกมากมายหลายชนิด ที่ขายได้ รีไซเคิลได้

(อ่านเพิ่มเติม ใครกันบอกได้ อะไรจะถูกรีไซเคิล เพื่อดูเส้นทางของขยะรีไซเคิล)

แก้ไขยังไงดี?

  1. Wishcycling เรื่องวัสดุ: ผู้ผลิตและรัฐบาลควรใช้หลัก EPR ช่วย เพราะจะได้ออกแบบตั้งแต่ต้นทางและมีระบบการจัดการรองรับที่ดี เช่น ผู้ผลิตใช้ recyclable mono-material แทน รัฐบาลสนับสนุนการมีระบบการเผาทำเชื้อเพลิง (ที่ถูกหลัก) สำหรับขยะที่นำกลับไปใช้ใหม่ไม่ได้ สร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะอื่น ๆ นอกจากขยะยอดฮิตมากขึ้น

  2. Wishcycling เรื่องความสะอาด: สำหรับทุกคน “ก่อนแยก/ทิ้ง ทำให้ของในมือสะอาดก่อน” ไม่ต้องถึงกับวิ้งวับก็ได้ แค่เทน้ำ เทเศษอาหารออกให้มากที่สุด แค่นี้ก็ช่วยได้มากแล้ว

ที่เราเห็นว่าในหลาย ๆ ประเทศ เขาสามารถแยกขยะจากวัสดุได้ เป็นเพราะมันเป็นที่รู้กันว่าขยะที่จะนำไปรีไซเคิลได้ควรมีสภาพที่สะอาดประมาณหนึ่ง แต่ในกรณีของบ้านเรา จำเป็นต้องมีการทำความเข้าใจเพิ่ม ว่าก่อนจะบอกได้ว่าของอะไรขายได้ไม่ได้ ต้องสะอาดก่อน เพื่อที่คนแยกขั้นต่อไปสามารถทำงานได้

เพราะการรีไซเคิลไม่ใช่ทุกอย่าง การลดการใช้ตั้งแต่แรกจึงเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แต่บางอย่างที่จำเป็นต้องมีอยู่ ก็ควรหาทางจัดการให้ดียิ่งขึ้น เช่น การเผาทำเชื้อเพลิงสำหรับขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ แต่มีปริมาณน้ำหรือเศษอาหารปนน้อย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7Rs คือ Energy Recovery นั่นเอง

ทิ้งท้ายไว้อีกรอบว่า “จะทิ้งลงในถังรีไซเคิลได้ ต้องทำให้แห้ง/สะอาดก่อนนะทุกคน”

ที่มา: https://littlebiggreen.co/blog/wishcycling

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

บันทึกการตั้งค่า