01 เม.ย. ชวนคิด หรือความจริง ‘พลาสติก’ อาจไม่ใช่ตัวร้ายในเรื่องภาวะโลกร้อน [Advertorial]
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อน (Global Warming) ถือเป็นหนึ่งในวิกฤตที่นานาประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบกันอย่างหนัก ช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ที่ประเทศนอร์เวย์ มีการเปิดเผยข้อมูลจาก NRK ที่เป็นสื่อท้องถิ่นชื่อดัง ในรายงานพบว่าจำนวนกวางเรนเดียร์ลดลงอย่างน่าตกใจ อีกทั้งยังพบซากกวางเรนเดียร์กว่า 200 ตัวที่คาดว่าจะเสียชีวิตลงเนื่องจากภาวะขาดแคลนอาหาร จากปัญหาพื้นที่แผ่นน้ำแข็งบางและละลายลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ที่เกริ่นมาข้างต้นถือเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญ ประเทศไทยเองก็ถูกปัญหาดังกล่าวเล่นงานอย่างต่อเนื่อง จนกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในหลากหลายด้าน เช่น ผลพวงจากภาวะโลกร้อนทำให้ผลผลิตทางการเกษตรและการประมงมีจำนวนลดลง ระบบนิเวศเกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีผลกระทบกับความหลากหลายทางชีวภาพ นี่ยังไม่ได้นับรวมอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นในเดือนเมษายน และฤดูหนาวที่มาเร็วและรุนแรง แต่อยู่กับเราเพียงไม่กี่วัน
แล้วอะไรคือที่มาของปัญหา
‘พลาสติก’ คือจำเลยที่คนส่วนใหญ่ ‘เชื่อ’ ว่าเป็นหนึ่งในต้นเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ดังกล่าวนี้ ประมาณปี 2561 ตามรายงานของกรีนพีซระบุว่า มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาวายพบว่า พลาสติกที่กำลังย่อยสลายจะปล่อยก๊าซมีเธน ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 30 เท่า รวมถึงก๊าซเอทิลีน ซึ่งถูกพบมากขึ้นในยุคของเรา เนื่องจากทั่วโลกมีการผลิตพลาสติกเพิ่มมากขึ้น จนทำให้ก๊าซเหล่านี้สะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมชนิดที่ผู้คนไม่ทันได้รู้ตัว
พลาสติกคือผู้ร้าย: หวนคิดอีกที ก่อนตัดสิน
ทางด้าน อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ของสถาบันพลาสติกไทย ให้ข้อมูลอีกด้านเกี่ยวกับพลาสติก พร้อมชวนย้อนมองถึงที่มาของพลาสติกล้นประเทศนั้นเกิดขึ้นจากอะไร และอะไรกันแน่ที่เป็นตัวการในปัญหาโลกร้อนครั้งนี้
อาจารย์มยุรี ระบุว่า ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า ขยะพลาสติกไม่สามารถเดินลงทะเลด้วยตัวเองได้ แล้วอะไรที่เป็นสาเหตุ?
สาเหตุที่ 1 คือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการบริโภคอาหารมากขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องของวิถีชีวิตที่ต้องการความสะดวกสบายจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ ก็ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ภาชนะจำพวกพลาสติกเพิ่มมากขึ้น
สาเหตุที่ 2 คือ เรื่องของพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลัก จริงอยู่ที่ภาชนะจำพวกพลาสติกเป็นสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกผู้คนในแบบวิถีการใช้ชีวิตในยุคสมัยใหม่ แต่พฤติกรรมการทิ้งไม่เป็นที่เป็นทาง จึงนับเป็นหนึ่งสาเหตุที่น่ากังวลมาก
สาเหตุที่ 3 คือ การจัดการขยะไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าภาครัฐสามารถจัดเก็บขยะได้อย่างเป็นระเบียบและเป็นรูปธรรมมากที่สุด ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ขยะไม่ไปอยู่ในที่ที่ไม่ควรอยู่อย่างที่พบเห็นในปัจจุบัน
“ขยะพลาสติกในไทยมีประมาณ 2 ล้านตันต่อปี โดย 25% หรือ 5 แสนตันจะถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งถือว่าไม่เยอะ เพราะในจำนวนดังกล่าว เรายังส่งออกไป 3 แสนตัน และนำเข้าอีก 7 หมื่นตัน เบ็ดเสร็จแล้วขยะที่เรานำมารีไซเคิลได้รวมทั้งหมดเพียง 2.7 แสนตัน มีโรงงานอยู่ 269 แห่ง คิดเป็น 7% ในบรรดาโรงงานคัดแยกขยะของไทย ดังนั้นปัญหาที่ใหญ่ตามมาคือ การที่รู้ว่ามีขยะพลาสติก แต่ไม่มีการคัดแยก ซึ่งขยะเหล่านี้มีแต่การปนเปื้อน (คือมีเศษอาหาร คราบน้ำหวาน กาแฟ ติดมาด้วย) และไม่มีการแยกชนิดอะไรเลย จนก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกล้นประเทศอย่างในปัจจุบัน และก่อให้เกิดผลข้างเคียงอย่างภาวะโลกร้อนตามมาเป็นลำดับ”
ภาชนะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง กับ บรรจุภัณฑ์พลาสติก แตกต่างกัน?
ถึงตอนนี้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งกำลังกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนพยายามเลี่ยงการใช้งานให้ได้มากที่สุด เพียงเพราะเข้าใจว่า หากมีการใช้งานมากขึ้นเท่าไร ปริมาณขยะพลาสติกที่พบในประเทศ และปัญหาก็จะมีมากขึ้นตามมา จนทำให้หลายคนเลือกมองหาบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่นๆ นำมาใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก
“เราต้องแบ่งให้ได้ก่อนว่า ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastics) กับ บรรจุภัณฑ์พลาสติกต่างกันอย่างไร (Plastic Packaging)” อาจารย์มยุรี กล่าว
“ภาชนะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง คือจำพวก จาน, ชาม, หลอด, แก้วน้ำ ฯลฯ สิ่งที่ทำให้ภาชนะเหล่านี้ไม่ใช่บรรจุภัณฑ์ เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่อนำมาบรรจุอาหารไม่จำเป็นต้องปิดให้สนิท ไม่มีเรื่องอายุการเก็บเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่มีเรื่องกฎหมายฉลาก ขณะที่บรรจุภัณฑ์จะเป็นจำพวกถุงขนมตามร้านสะดวกซื้อที่มีการปิดสนิท หรือสิ่งที่บ่งบอกอายุการเก็บชัดเจน”
นอกจากนี้ คำถามที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นอย่างมากคือ ถ้าจะมีการใช้งานอย่างอื่นแทนการใช้ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติก ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ อะไรก็ตามที่ช่วยลดการใช้พลาสติกก็สามารถใช้ได้ แต่ถ้าจะหันมาใช้อย่างอื่นแทน ผู้บริโภคจำเป็นต้องพิจารณาผ่านองค์ประกอบ ดังนี้
- ภาชนะทดแทนมีการใช้งานที่ทดแทนวัสดุเก่าได้จริงหรือไม่
- ภาชนะที่เรานำมาใส่ ให้การคุ้มครองสินค้าภายในได้หรือไม่
- การผลิตวัสดุทดแทน ถือเป็นการสิ้นเปลืองพลังงานหรือไม่
- ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงแหล่งซื้อวัสดุทดแทนได้อย่างไร
- วัสดุที่นำมาใช้ทดแทนมีราคาเป็นอย่างไร
เหนือสิ่งอื่นใด การยกองค์ประกอบทั้ง 5 ข้อข้างต้น ไม่ได้เป็นการบ่งบอกว่า ภาชนะทดแทนคือสิ่งที่ไม่ดีหรือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น หากแต่จะดีกว่านี้ ถ้าภาชนะทดแทนถูกแนะนำให้ใช้งานผ่านข้อมูลเรื่องของข้อดี-ข้อเสียอย่างรอบด้าน
ยกตัวอย่าง ‘ถุงพลาสติก’ ที่มีการเชียร์ให้หันไปใช้ ‘ถุงผ้า หรือ ถุงกระดาษ’ อาจารย์มยุรี กล่าวว่า กรณีของถุงผ้าและถุงกระดาษ เมื่อพิจารณาในมุมของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์อย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าถุงเหล่านี้ก็มีข้อจำกัดหลายส่วน อย่างเช่น ถุงกระดาษที่ไม่สามารถบรรจุสินค้าได้ในปริมาณที่เยอะ เพราะอาจเกิดการฉีกขาดได้
อีกทั้งยังพบว่า ‘ถุงกระดาษ’ มีการใช้พลังงานมากกว่าถุงพลาสติก 2.7 เท่า ใช้น้ำมากกว่า 17 เท่า ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 1.6 เท่า ดังนั้นทุกครั้งที่พูดถึงข้อดีของถุงกระดาษ จำเป็นต้องพูดถึงเรื่องนี้ด้วย ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าความเป็นถุงพลาสติกไม่ได้มีแต่ด้านลบเสมอไป แต่ควรรู้จักใช้พลาสติกที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด อย่างเช่น การนำกลับมาใช้ซ้ำจนกว่าถุงจะเสื่อมสภาพการใช้งาน
“ต่อมาคือเรื่องของหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ ที่เราควรรู้คือ หน้าที่มันจริงๆ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นขยะ เพราะหน้าที่บรรจุภัณฑ์พลาสติก ก็อย่างที่เราเห็นคือ การทำให้สินค้าที่ถูกห่อหุ้มมีความปลอดภัย เก็บรักษาของหรืออาหารได้นาน สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกมันตอบโจทย์ ถ้าเกิดจะเลิกใช้แบบหักดิบก็คงจะไม่ได้ หรือถ้าจะเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุอย่างอื่น ปัจจัยหลักที่ควรคำนึงถึงมันสามารถสร้างความปลอดภัยให้กับเราในฐานะผู้บริโภคได้หรือไม่”
เปลี่ยนมุมคิดและปรับการใช้งานพลาสติก
ทางด้าน ดร.สุรชา อุดมศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายงานเทคโนโลยีและนวัตกรรม ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ในฐานะองค์กรผู้ผลิตเคมีภัณฑ์รายใหญ่ของประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย บอกว่า สิ่งของอะไรก็ตามที่ถูกผลิตขึ้นมา ไม่ว่าจะทำจากวัสดุอะไรก็ตามจะสังเกตได้ว่า สิ่งต่างๆ ก็มีข้อเสียในตัวทั้งสิ้น แต่ในทางกลับกันทุกอย่างอยู่ที่การจัดการ และการเลือกนำไปใช้แบบถูกที่ถูกทางมากน้อยเพียงใด
“ขณะที่วัสดุอย่างพลาสติก แม้ในปัจจุบันจะถูกมองว่าเป็นผู้ร้ายในภาวะปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายๆ อย่าง ที่เกิดขึ้นในสังคม แต่การที่พลาสติกเติบโตมาได้ดีขนาดนี้ต้องยอมรับว่ามี จุดแข็ง และข้อดีหลายอย่าง มันเลยทำให้เห็นว่า ที่ผ่านมามีการใช้พลาสติกดัดแปลงไปเป็นอะไรก็ตามอย่างแพร่หลาย
“อีกประเด็นที่ต้องเข้าใจคือ พลาสติกเป็นวัสดุที่มีหลายเกรด หลายแขนงมาก เพราะพลาสติกสามารถนำไปขึ้นรูปผลิตได้หลายอย่าง ซึ่งสามารถนำไปทำเป็นขวด ฟิล์ม ชิ้นงานที่มีความหนา อีกทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน การหาวัสดุที่จะมาขึ้นรูปทรงเป็นหลายๆ แบบก็ไม่มี ยกตัวอย่าง เหล็ก ก็จะขึ้นรูปได้อย่างจำกัด ไม่สามารถเอาไปทำอะไรได้มากกว่าเมื่อเทียบกับพลาสติก
“นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตลอดเวลา 70 ปีที่ผ่านมา วัสดุอย่างพลาสติกยังคงเป็นที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพียงแต่ปัญหาหลักของเรื่องนี้คือ ที่ผ่านมาสังคมไม่มีการจัดการกับพลาสติกที่กลายเป็นของเสีย ภายหลังจากผ่านการใช้งานอย่างเป็นระบบ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่พลาสติกที่ไม่มีการจัดการ สิ่งของอะไรก็ตามที่ถูกโยนลงถังขยะก็มีการจัดการที่ไม่ได้ต่างกัน ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ สิ่งของอะไรก็ตาม ถ้าใช้แล้วควรถูกคัดแยก หรือจัดเก็บอย่างเป็นระบบ”
ซึ่งสิ่งสำคัญที่เอสซีจีทำอยู่เสมอคือ การผลักดันเรื่องการคำนึงถึง ‘Value Chain’ หรือการคิดตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะถ้ามองตามหลักความเป็นจริง เราไม่สามารถบอกได้ว่าโลกนี้ไม่ควรมีพลาสติก
“ลองหลับตาแล้วคิดตามง่ายๆ ว่า ถ้าโลกนี้ไม่มีพลาสติกมันจะเป็นอย่างไร เช่น ท่อน้ำ ท่อประปา ที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ถ้าเราไม่ใช้วัสดุตระกูลพลาสติก คำถามคือเราจะใช้อะไรในการเดินท่อเหล่านั้น ถ้าหันไปใช้เหล็ก ก็จะต้องมีการขุดขึ้นมาบ่อยหน่อย เพราะจะเกิดการกัดกร่อนจนก่อให้เกิดการเป็นสนิม
“ความน่าสนใจอีกอย่างที่หลายคนอาจจะลืมคิดคือในอดีต การดีไซน์หรือการทำผลิตภัณฑ์อะไรก็ตาม การคิดถึงเรื่อง ‘End-of-life’ ไม่ใช่หมุดหมายหลักในการผลิต นึกภาพง่ายๆ คือถุงขนมมันฝรั่งทอดกรอบ สมัยก่อนผู้ผลิตจะคิดแค่เพียงบรรจุภัณฑ์นั้นจะช่วยให้สินค้ามีน้ำหนักเบา ป้องกันตัวสินค้าให้คงทนและอยู่นานมากที่สุด ดังนั้นเรื่องของระบบในการออกแบบก็จะมีความซับซ้อน พอถึงปลายทางบรรจุภัณฑ์พลาสติกนี้ก็จะกลายเป็นขยะที่ยากต่อการรีไซเคิล เพราะไม่ได้ถูกคิดเรื่องการจัดการสำหรับปลายทางมาตั้งแต่ต้น”
ด้วยเหตุนี้ การผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่คำนึงถึงการจัดการในปลายทาง จึงกลายเป็นเทรนด์ที่พบเห็นกันได้มากขึ้นจากผลิตภัณฑ์ขององค์กรต่างๆ ซึ่งเอสซีจีก็พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมในนวัตกรรมพวกนี้ด้วย เพราะเราก็คิดว่าอย่างไรปลายทาง พวกเราต่างก็ต้องการแพ็กเกจจิ้งที่ถูกสร้างขึ้นมา ผ่านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อบรรเทาปัญหาหรือภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นอย่างหนักในปัจจุบัน
โดยเอสซีจีในฐานะผู้ผลิตวัสดุพลาสติกให้กับบริษัทที่อยู่ในห่วงโซ่ของเรา ก็ต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์สังคม ดังนั้น สิ่งที่เอสซีจีพยายามทำคือ การคิดค้น และผลิตวัสดุออกมาให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทำให้เห็นคุณค่าของวัสดุคืออะไร และปลายทางของวัสดุจะไปอยู่ที่ไหน
ซึ่งสิ่งสำคัญคือเราต้องหันมามองคุณค่าในตัวพลาสติกให้มากกว่าเดิม ควบคู่ไปกับการมองหาหลักความเป็นจริง ว่าแท้จริงแล้ว ภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่อยู่ใกล้ตัวเรา มีคุณสมบัติ หน้าที่เพื่ออะไร และเริ่มมองจากพลาสติก 1 ชิ้น ถ้ารู้จักใช้และรู้จักที่จะจัดการกับสิ่งนั้นอย่างเป็นระบบ พลาสติกจะมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
Sorry, the comment form is closed at this time.