08 Mar KBANK คาดปี68 มูลค่าบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแตะ 1.6หมื่นลบ.
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -17 ก.ย. 63 14:00 น.
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปัจจุบันทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาวิกฤติขยะบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการบริโภค ซึ่งมีปัจจัยกระตุ้นเพิ่มเติมจากการเติบโตของอาหารและเครื่องดื่มแบบสะดวกซื้อ และธุรกิจส่งอาหาร ทำให้ทุกภาคส่วนต่างหันมาให้ความสำคัญการส่งเสริมบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในปี 2563 น่าจะเติบโตเฉลี่ย 25% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100-2,400 ล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากปี 2562 ที่เติบโตเกือบเท่าตัว ภายใต้ปัจจัยกดดันด้านสภาวะเศรษฐกิจ แต่ก็ยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2563 จะเพิ่มขึ้น จากประมาณ 1% ไปอยู่ที่ 2% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม
ในระยะ 5 ปีข้างหน้า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคาดว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่องไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 8-10% ของมูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทั้งหมด ภายใต้เงื่อนไขกลไกสนับสนุนด้านการผลิต และการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
วิกฤติขยะบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มทำให้ทุกภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหา
การเติบโตของธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) รวมทั้งอาหารและเครื่องดื่มแบบสะดวกซื้อ (Convenience Food) ตามการขยายตัวของประชากรและการบริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่เมือง ซึ่งจะเน้นรูปแบบการบริโภคที่สะดวกรวดเร็ว มีปริมาณและขนาดสำหรับการพกพา
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฉพาะบรรจุภัณฑ์สำหรับ Food Delivery ในปี 2563 น่าจะไม่ต่ำกว่า 250 ล้านชิ้น ทำให้ปริมาณการใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวม ซึ่งครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร รวมถึงร้านอาหารรายย่อยอื่นๆ นอกเหนือจาก Food Delivery น่าจะมากกว่านี้อีกพอสมควร
สถานการณ์ดังกล่าวจะนำไปสู่วิกฤติการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์จากการบริโภคที่เป็นประเด็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญในการจัดการบรรจุภัณฑ์ตลอด Life Cycle โดยในบริบทของประเทศไทยจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเพื่อรับมือวิกฤติดังกล่าว ตั้งแต่การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ออกแบบสินค้าและส่งเสริมลดการใช้บรรจุภัณฑ์เท่าที่จำเป็น ไปจนถึงการสร้างกลไกการเรียกคืนและคัดแยกบรรจุภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งน่าจะดำเนินควบคู่ไปกับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบรรจุภัณฑ์
มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยังเติบโตได้ในปี 2563 และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องไปแตะระดับ 1.3-1.6 หมื่นล้านบาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ท่ามกลางวิกฤติขยะพลาสติกที่เพิ่มสูงขึ้น และไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยขยะพลาสติกลงสู่มหาสมุทรมากเป็นลำดับต้นของโลก ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมาได้เห็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์และมีมาตรการจูงใจในการลดใช้พลาสติก ทั้งการงดแจกจ่ายเงินเพิ่มเพื่อรับถุงพลาสติกหูหิ้ว ให้ผู้บริโภคเลือกว่าต้องการช้อนส้อมหรือไม่ รวมทั้งร้านค้า ผู้ประกอบการที่ใช้แก้วเครื่องดื่มสามารถดื่มได้สะดวกโดยไม่ใช้หลอดพลาสติก หรือใช้หลอดกระดาษแทน
ทั้งนี้ การดำเนินการที่ผ่านมาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวไปสู่เป้าหมาย Zero Single-use Plastic ในปี 2568 ซึ่งยังจำเป็นต้องอาศัยความสอดคล้องกันในการดำเนินการของผู้เล่นทั้งห่วงโซ่ ตั้งแต่อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งด้านต้นทุนการผลิต ฟังก์ชันการใช้งาน และการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดขยะบรรจุภัณฑ์ รวมถึงการบริโภคอย่างยั่งยืนในระยะยาว
เมื่อพิจารณาสัดส่วนปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast-moving Consumer Goods: FMCG) พบว่า บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกมากที่สุด ประมาณ 65% ของรายได้ในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด และเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจากพลาสติกมากกว่า 40% เนื่องจากเป็นวัสดุที่น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนลักษณะได้ตามความต้องการ
ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับสถานการณ์ในประเทศไทยที่มีปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่อมดื่มมากที่สุด ส่งผลต่อปัญหาการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภคจำนวนมาก อีกทั้งสถานการณ์ในช่วงที่มีมาตรการกึ่งล็อกดาวน์เพื่อเฝ้าระวังการระบาดของโควิด-19 ผู้บริโภคใช้บริการ Food Delivery มากขึ้น ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกจึงเพิ่มขึ้นจากช่วงปกติกว่า 15% จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน แสดงให้เห็นว่า ไทยจำเป็นต้องเร่งกำหนดแนวทางการปรับตัว
โดยมีปัจจัยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและผู้บริโภคเข้าถึงบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากวัตถุดิบที่รีไซเคิลได้ แตกสลายและย่อยสลายได้ทางชีวภาพ รวมไปถึงการมีกระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการสร้างกลไกจัดการขยะหลังการบริโภคที่สร้างการมีส่วนร่วมและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาขยะบรรจุภัณฑ์ในระยะยาว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้ปัจจัยท้าทายด้านมาตรฐานความปลอดภัยและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม น่าจะเป็นโอกาสในการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ทางเลือก โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Packaging) ในไทย ซึ่งถูกกระตุ้นด้วยสถานการณ์วิกฤติขยะบรรจุภัณฑ์ที่ยิ่งเน้นให้เห็นถึงความเร่งด่วนในการปรับตัวของผู้ประกอบการ
แม้ว่าในปี 2563 ธุรกิจจะต้องเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลดต้นทุนบางส่วนลง ด้วยการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์แบบดั้งเดิมที่มีราคาต่ำกว่าในระยะนี้ แต่มูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะยังเติบโตเฉลี่ย 25% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,100-2,400 ล้านบาท ซึ่งชะลอลงจากปี 2562 ที่เติบโตเกือบเท่าตัว แต่ก็ยังทำให้ส่วนแบ่งตลาดในปี 2563 จะเพิ่มขึ้น จากประมาณ 1% ไปอยู่ที่ 2% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม
อย่างไรก็ดี ในระยะ 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะยังมีโอกาสในการขยายตลาดได้ ภายใต้ปัจจัยด้านความต้องการบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประกอบกับเงื่อนไขสนับสนุนด้านการผลิต เช่น การมีมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการ ความพร้อมด้านวัตถุดิบทดแทน รวมทั้งมาตรการของภาครัฐในการสร้างระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ทั้งระบบอย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มูลค่าบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน่าจะขยายตลาดได้เพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 13,000-16,000 ล้านบาท ในปี 2568 ส่งผลให้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8-10% ของมูลค่าตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มรวม
การปรับตัวของธุรกิจบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มน่าจะสอดคล้องกับแนวทางการยกระดับมาตรฐานและความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับโอกาสในการขยายตลาดในระยะยาว
การปรับตัวของผู้ประกอบการไทยเพื่อตอบโจทย์การลดขยะบรรจุภัณฑ์และความต้องการใช้งานของผู้บริโภค จะสอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มในตลาดโลก
ซึ่งประกอบด้วย 2 แนวทางหลัก ได้แก่
1) มาตรฐานบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่เข้มข้นขึ้นทั่วโลก
การกำหนดคุณภาพและมาตรฐานสำหรับภาชนะบรรจุอาหารจะยึดหลักด้านสุขอนามัยและความปลอดภัยเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม เช่น มาตรฐานสำหรับภาชนะพลาสติกบรรจุน้ำบริโภค ถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับเตาไมโครเวฟ เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ผลิตยังจำเป็นต้องยกระดับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับมาตรฐานการผลิตระดับสากลและการพัฒนาของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามแนวทางมาตรฐานการผลิตที่ดี Good Manufacturing Practice (GMP) อีกทั้ง ยังต้องตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาและกระบวนการผลิต ซึ่งจะเห็นได้จากการพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบบ Smart Packaging ที่แสดงข้อมูลในแต่ละขั้นตอนของทั้งบรรจุภัณฑ์และอาหารที่บรรจุ
2) บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Packaging) ที่สอดรับกับเทรนด์ความยั่งยืน
ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่การผลิตอาหารและเครื่องดื่มต่างให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ซึ่งส่งผลต่อทั้งการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจและเลือกใช้วัตถุดิบ/บรรจุภัณฑ์ที่จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น การซื้อสินค้าแบบ Refillable โดยผู้บริโภคสามารถนำบรรจุภัณฑ์มาบรรจุสินค้าได้เอง หรือธุรกิจให้บริการแบบเรียกคืนบรรจุภัณฑ์
ในขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาวัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหลายประเภท เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษเคลือบกันความร้อน บรรจุภัณฑ์ไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติด้วยการฝังกลบอย่างเหมาะสม รวมถึงการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลใช้ได้อย่างปลอดภัยสูงสุดถึง 95-100% แต่ในทางปฏิบัติจำเป็นต้องมีระบบการคัดแยกขยะและเรียกคืนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วถูกนำมารีไซเคิลหรือกำจัดอย่างถูกวิธี
ปัจจุบันบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบดั้งเดิม เช่น Polyethylene Terephthalate (PET) และ Polypropylene (PP) ยังคงมีสัดส่วนการใช้งานในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มมากที่สุด ดังนั้นการปรับตัวของผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติกน่าจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของตลาด
ทั้งในแง่ของการผลิตพลาสติกทางเลือก หรือการเพิ่มสัดส่วนบรรจุภัณฑ์ชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพลาสติกแบบดั้งเดิม โดยการปรับตัวของตลาดน่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากการที่ผู้ประกอบการร้านค้าเริ่มใช้งานพลาสติก Oxo-(bio)degradable ที่มีการเติมสารเพิ่มเติมเพื่อช่วยลดระยะเวลาการแตกตัวได้เร็วขึ้น โดยอาศัยแสงอาทิตย์ ความร้อน และออกซิเจน แต่พลาสติกชนิดนี้ยังคงก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ทำให้หลายประเทศทั่วโลกอย่างสหภาพยุโรปมีมาตรการยกเลิกการใช้ Oxo-(bio)degradable และพิจารณาส่งเสริมพลาสติกชนิดอื่นทดแทน โดยแนวโน้มธุรกิจส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยอาจจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการรีไซเคิลพลาสติกเพื่อบรรจุอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย
เนื่องจากปัจจัยด้านความพร้อมของผู้ผลิตและระบบรีไซเคิลที่สามารถต่อยอดจากกระบวนการผลิตเดิม เช่น Recycled PET และ Recycled PP ซึ่งเอื้อให้ผู้ประกอบการทั้งรายกลางและรายย่อยสามารถปรับตัวได้ง่ายกว่าโดยเปรียบเทียบกับการผลิตไบโอพลาสติก เช่น Polylactic Acid (PLA)
ซึ่งต้องมีแผนในการจัดหาวัตถุดิบ ลงทุนในเครื่องจักรและออกแบบกระบวนการผลิตเพิ่มเติม อีกทั้ง ในระยะแรกยังต้องอาศัยการทำตลาดที่เฉพาะเจาะจงเพื่อรองรับการผลิตไว้ล่วงหน้า เช่น การผลิตสำหรับธุรกิจในเครือที่มีคำสั่งซื้อแน่นอน ส่งผลให้การผลิตไบโอพลาสติกที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติยังคงอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความพร้อมและเงินลงทุน
อย่างไรก็ตาม การปรับตัวดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยกลไกสนับสนุนเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขข้อกฎหมายให้สามารถใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิลที่ได้มาตรฐานมาใช้ในการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มได้ ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนในระบบติดตามและจัดการสำหรับขยะบรรจุภัณฑ์หลังใช้มาเข้าสู่การกำจัดอย่างเหมาะสม
เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเรียกคืนบรรจุภัณฑ์หลังการบริโภคได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค เช่น การร่วมลงทุนสร้างระบบการติดตามเรียกคืนและกำจัดขยะบรรจุภัณฑ์ระหว่างภาครัฐและเอกชนในประเทศสวีเดน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ผลิตทำตลาดได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพิ่มโอกาสความคุ้มค่าการลงทุนในระยะยาว
นอกจากนี้ ภาครัฐยังจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจในการลงทุน โดยเฉพาะผู้ผลิตรายกลางและรายย่อยให้สามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตไบโอพลาสติกได้ในอนาคต ประกอบกับมาตรการเพิ่มแรงจูงใจของผู้บริโภค เพื่อให้ตลาดบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถขยายตลาดได้ในวงกว้าง และตอบโจทย์ปัญหาวิกฤติขยะบรรจุภัณฑ์ในระยะยาวได้
Sorry, the comment form is closed at this time.