18 Mar บรรจุภัณฑ์ยั่งยืนคืออะไร? ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง
ในวันที่เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ “ขยะ” โดยเฉพาะ “ขยะบรรจุภัณฑ์” ซึ่งมีส่วนในการทำลายสิ่งแวดล้อมค่อนข้างมากจึงไม่ใช่เรื่องขยะอีกต่อไป แต่กลับเป็นเรื่องใกล้ตัวของทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต
การจะผลักภาระให้ผู้บริโภคจัดการขยะหลังการบริโภคของตนอาจจะไม่ใช่วิธีที่มีประสิทธิภาพเสมอไป หากขยะนั้นยากต่อการจัดการต่อ กลับกัน ผู้ผลิตจำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทในการรับผิดชอบบรรจุภัณฑ์ของตนตั้งแต่ต้นทาง ถึงจะเป็นการแก้ปัญหาได้ถูกจุดอย่างแท้จริง
การผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนอาจจะตอบโจทย์ปัญหาสิ่งแวดล้อมนี้ได้ แล้วบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน คืออะไร ทำไมธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง รวมถึงแนวโน้มการทำธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร? ไปหาคำตอบกันได้ในบทสัมภาษณ์ คุณสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด และ ดร. สุรศักดิ์ วรรณะพาหุณ ผู้อำนวยการ ฝ่ายคุณภาพและนวัตกรรม BJC Glass ในรายการ Mission to the Moon ซึ่ง Aluminium Loop ได้สรุปประเด็นสำคัญมาให้ดังนี้
การออกแบบบรรจุภัณฑ์กับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกันอย่างไร?
- ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนข้างสูง ทั้งกระบวนการผลิตและหลังการบริโภค แต่ถ้าเราสามารถเริ่มเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำ (การออกแบบบรรจุภัณฑ์ การเลือกใช้วัตถุดิบ กระบวนการผลิต) และพยายามขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อให้มีการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพผ่านการเก็บกลับ ก็จะสามารถทำธุรกิจที่ยั่งยืนและส่งผลกระทบด้านดีต่อสังคมได้
- เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ภาคการผลิตจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ให้น้อยลงทั้งวัตถุดิบและพลังงาน เช่น ใช้วัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลหมุนเวียนได้เรื่อยๆ อย่างอลูมิเนียมและแก้วที่เป็น mono-material รวมถึงใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยต้องแน่ใจว่าวัตถุดิบและพลังงานนั้นมาจากแหล่งที่เหมาะสมและยั่งยืน
ทำไมเราถึงยังไม่เห็นการแยกขยะที่มีประสิทธิภาพในประเทศไทย?
- การจัดการขยะในประเทศไทยยังไม่มีประสิทธิภาพดีพอ เนื่องมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างและการขาดความรู้ความเข้าใจของประชาชน
- เริ่มแรกต้องชี้ให้เห็นก่อนว่าบรรจุภัณฑ์แต่ละชนิดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร และมีต้นทุนในการจัดการอย่างไร โดยใช้กลไกนี้ผลักดันผู้ผลิตให้รับผิดชอบ ขยะบรรจุภัณฑ์ ที่ตนผลิตตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังทุกช่วงวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์
- ผู้ผลิตยังมีหน้าที่ให้ความรู้กับประชาชนเรื่องการแยกขยะ แยกขยะแล้วทำให้คุณค่าของขยะเพิ่มขึ้นอย่างไร เพราะถ้าขยะไม่มีค่าคนก็จะไม่สนใจในการแยก
อะไรคือความท้าทายของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ในปัจจุบัน?
- ผู้บริโภคต้องการความจริงใจ (Authenticity) จากผู้ผลิตและแบรนด์ที่ต้องมีความรู้ลึก รู้จริง ทำได้จริง โดยต้องมีข้อมูลรองรับและผู้บริโภคสามารถติดตามข้อมูลนั้นได้
- ผู้บริโภคต้องการความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงแบรนด์ตื่นตัวเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น ผู้ผลิตต้องแน่ใจว่าบรรจุภัณฑ์ตนจะสามารถตอบโจทย์เทรนด์และสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปได้
- การลดการใช้ทรัพยากรและพลังงานเป็นโจทย์สำคัญ จะทำอย่างไรให้สามารถหมุนเวียนทรัพยากรและพลังงานเดิมกลับมาใช้ซ้ำได้
ขับเคลื่อนสังคม อีกหนึ่งแผนความความยั่งยืน
- ผู้บริโภคต้องการเห็นว่าผู้ผลิตทำดีต่อสังคมหรือไม่ ถ้าผู้ผลิตขับเคลื่อนตัวเองได้ ก็ต้องดึงสังคมให้เดินหน้าด้วย ถึงจะยั่งยืนอย่างแท้จริง เช่น การดึงประชาชนที่ด้อยโอกาสเข้ามาในระบบผ่านการจ้างงาน หรือเป็นกลไกในการจัดการขยะ เป็นต้น
สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องของทุกคน ขยะก็เป็นเรื่องของทุกคน ภาคการผลิตจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบเดิมๆ ที่มีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่ต้องขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืนด้วยกัน
ที่มา: https://adaddictth.com/Exclusive/Packaging-Design-Trends-2024
Sorry, the comment form is closed at this time.