อย่าให้พลาสติก OXO เป็นแค่รักษ์ที่หลอกลวง

อย่าให้พลาสติก OXO เป็นแค่รักษ์ที่หลอกลวง

ถ้าใครคุ้นๆ คำว่า  “พลาสติกย่อยสลายได้”  “ถุงใบนี้ย่อยสลายได้ในธรรมชาติ” “ถุงนี้สามารถย่อยสลายได้ในแสงแดด” (ถ้าเป็นแดดเมืองไทยจะย่อยเร็วหน่อย)  หรือ “degradable bag” “This bag is oxo-biodegradable” บลาๆๆ ที่ปรากฎหราบนถุงพลาสติกที่เรารับมา เสียใจด้วยจริงๆ คุณโดนความรักษ์หลอกลวงแล้วละ

เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงจากพลาสติกธรรมดาที่พิเศษขึ้นด้วยการใส่สารเติมแต่งเพื่อให้เปราะมากขึ้น แตกตัวเป็นชิ้นเล็ก (Fragmentation) เป็นไมโครพลาสติกเร็วขึ้น จากหลักร้อยปีเหลือแค่ไม่กี่ปีแล้วก็จะปนเปื้อนเข้าไปในน้ำหินดินทราย หรือแม้แต่สิ่งมีชีวิตได้ง่าย แถมจะเอามาใช้ซ้ำก็ยุ่ยซะก่อน รีไซเคิลก็ไม่ได้เพราะเธอเปราะบางเกินไป

 

ความรักษ์ต้องห้าม

สหภาพยุโรป (EU) ได้จัดทำรายงานการศึกษาผลดีผลเสียของพลาสติกชนิด Oxo-degradable หรือ Oxo-biodegradable ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ถุงประเภทนี้ไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหาขยะพลาสติกเลย ใช้ซ้ำก็ไม่เวิร์ก รีไซเคิลก็ไม่ได้ และมีมติให้จำกัดและเลิกใช้ถุงประเภทนี้ พร้อมเรียกร้องให้ทั่วโลกแบนถุง OXO อีกด้วย และหลายประเทศก็ตอบรับทั้งนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย บริษัทเอกชน เช่น Unilever Nestle  แน่นอนว่าประเทศในเครืออียูก็จะห้ามใช้เช่นกัน น่าดีใจที่ประเทศไทยก็มีการตั้งเป้าที่จะห้ามใช้พลาสติกชนิด oxo ด้วยเช่นกัน แต่เป็นแค่การตั้งเป้าหมายเท่านั้นยังไม่ได้ออกมาตรการห้ามผลิตหรือห้ามจำหน่ายใดๆ ออกมา

จุดสังเกตว่าถุงหรือพลาสสติกประเภทนี้เป็นถุง oxo หรือไม่

 

แล้วแบบไหนถึงเป็นรักษ์แท้

พลาสติกแตกสลายได้ชนิดอ๊อกโซ (Oxo-Degradable Plastics) เกิดจากกระบวนการแตกสลายด้วยปฏิกิริยาออกซิเดชัน ไม่ได้เป็นพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพแต่เป็นพลาสติกที่ผลิตขึ้นจากพลาสติกทั่วไป และมักใช้คำว่า “ย่อยสลายได้” หรือ “ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” เข้ามาช่วยเสริมให้ดูน่ารักษ์แต่แท้จริงแล้ว คำว่า Bio-Degradable ถูกใช้เพื่อแสดงถึงการแตกสลายด้วยน้ำและแสงแดดด้วย แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่า สามารถสลายตัวได้ทางชีวภาพหมดอย่างสมบูรณ์ เพราะสุดท้ายก็ยังเหลือเยื่อใยเป็นชิ้นพลาสติกเล็กๆ ที่สามารถดูดซึมสารเคมีอันตรายชนิด DDT (dichlorodiphenyltrichloroethane) และ PCBs (polychlorinated biphenyls) รวมทั้งโลหะหนักอื่นๆ ที่อยู่ในดิน ในทะเล หรือถูกสะสมเข้าไปอยู่ในสิ่งมีชีวิต เมื่อความรักษ์เป็นพิษก็อาจส่งผลต่อร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็ง หรือก่อเกิดผลเสียต่อระบบสืบพันธุ์

บทพิสูจน์ความรักษ์ที่แท้จริงก็ต้องมีหลักฐานมายืนยันว่า เป็นไปได้ตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุสาหกรรม (สมอ.) นั่นคือ มอก. 17088-2555  หรือมาตรฐานสากล ISO 17088 หรือ EN 13432 ซึ่งได้กำหนดนิยามของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ (biodegradable plastics) อย่างชัดเจนว่าเป็น

“พลาสติกที่เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารประกอบอนินทรีย์ มวลชีวภาพ และต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษหลงเหลือไว้”

ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวจะถูกนำมาใช้เพื่อรับรองคุณสมบัติของพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ง่ายๆ เลยก็คือ ถ้าเป็นพลาสติกน่ารักษ์ของแท้ จะต้องย่อยสลายโดยมีจุลินทรีย์เข้ามาช่วยกินและย่อยสลายออกมาในระหว่างที่เกิดกระบวนการหมักเป็นปุ๋ยโดยไม่ทิ้งสารพิษใดๆ เหลืออยู่ แต่ถ้าจะให้พิสูจน์ได้ง่ายมากขึ้นก็สังเกตได้ที่ตรารับรองมาตรฐานความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาการันตี

หลักการและตรารับรองมาตรฐานการย่อยสลายของพลาสติกชีวภาพ

 

รักษ์แท้หน้าตาแบบไหน

รักษ์แท้ทั้งทีต้องรักษ์ให้สุดอย่างพลาสติกชีวภาพที่ผลิตจากพืชผลทางการเกษตร สามารถปลูกทดแทนได้ในระยะเวลาสั้น เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด  พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Compostable plastics) เมื่อนำไปฝังกลบอย่างถูกวิธีก็จะสามารถย่อยสลายได้ตามสภาวะที่เหมาะสมในระยะเวลาที่กำหนด และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศ

 

ความรักษ์ต้องการการดูแล

สุดท้ายนี้อย่าลืมดูแลรักษ์แท้ให้ถูกต้อง หลังจากใช้งานเสร็จต้องคัดแยกพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่การทำปุ๋ยหมักเพื่อให้ย่อยสลายเป็นสารปรับปรุงดิน อย่างการจัดการในจุฬาฯ  ที่มีการแยกถังสำหรับใส่แก้ว zero-waste cup เพื่อนำไปทำปุ๋ยหมักกลับมาบำรุงดินส่งต่อความรักษ์ให้ต้นไม้ในจุฬาฯ งอกงามต่อไป

แก้ว zero-waste cup สามารถนำไปเพาะชำต้นไม้ก่อนลงปลูกในดินได้

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

ข้อกําหนดพลาสติกสลายตัวได้ มาตรฐานเลขที่ มอก. 17088 – 2555

EU takes action against oxo-degradable plastics
Over 150 organisations back call to ban oxo-degradable plastic packaging
“Bioplastics” แท้จริงเป็นอย่างไร

การศึกษาการเปรียบเทียบระหว่างพลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและพลาสติกที่ย่อยสลายได้แบบออกโซ

cover illustration by Navapan Assavasuntakul

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save