10 Sep วิทยาศาสตร์ชวนรู้ของกล่องเก็บอาหารพลาสติก
เคยลองนั่งคิดเล่น ๆ ไหมว่าในหนึ่งวันเราทิ้งขยะกันบ่อยแค่ไหน ? ‘Throwaway Culture’ หรือ ‘วัฒนธรรมการโยนทิ้ง’ คือคำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมการโยนทิ้งของมนุษย์ในปัจจุบัน ที่เป็นไปอย่างง่ายดาย และเกิดขึ้นบ่อยครั้งกว่าในอดีตที่ผ่านมา
วัฒนธรรมการโยนทิ้งคืออะไร
เราสามารถอธิบายวัฒนธรรมการโยนทิ้งได้สองนัยด้วยกันคือ การโยนทิ้งสิ่งของลงถังขยะหลังจากการใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียว เช่น หลอด ถุงพลาสติก และกระดาษชำระ ส่วนอีกนัยหนึ่งคือ การที่มนุษย์เลิกใช้สิ่งของเดิม ๆ เพื่อกระโดดเข้าหาสิ่งของใหม่ ๆ ที่ตื่นตาตื่นใจกว่า เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และกล้องถ่ายรูป
ในแง่หนึ่ง วัฒนธรรมการโยนทิ้งเป็นผลลัพธ์โดยตรงจากกระแสบริโภคนิยม (consumerism) ที่ผู้ซื้อพากันจับจ่ายใช้สอยสินค้าต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับตัวเอง เช่นเดียวกันกับเทคโนโลยี และการผลิตในระบบอุตสาหกรรมที่รุดหน้าไปเรื่อย ๆ ทำให้อัตราค่าผลิตสินค้าเองก็ถูกลงด้วย หลายบริษัทจึงเริ่มหันมาผลิตสิ่งของคุณภาพต่ำ และมีอายุการใช้งานสั้น เพื่อตอบสนองต่อวัฒนธรรมการโยนทิ้ง เช่น จานพลาสติก และแก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่ผลิตจากพลาสติกคุณภาพต่ำเท่านั้น และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการเก็บไว้ใช้งานในครั้งถัด ๆ ไป
ความสำคัญกล่องอาหาร และการเลือกพลาสติก
ท่ามกลางวัฒนธรรมการโยนทิ้ง ‘lunch box’ หรือ กล่องอาหาร ถือเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทหนึ่งที่อาจเรียกได้ว่าสวนทางกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนี้ นั่นเพราะประโยชน์ของกล่องอาหาร นอกจากจะมีเพื่อพกพาอาหารไปทานในสถานที่อื่น ๆ ที่ไม่ใช่บ้านแล้ว หลังจากที่ทานอาหารในกล่องจนหมดเกลี้ยง ก็สามารถนำกล่องกลับมาล้างให้สะอาดเพื่อไว้ใช้ใหม่ในครั้งอื่น ๆ ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้แล้วทิ้งลงถังแต่อย่างไร ในแง่นี้กล่องอาหารจึงถือเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ช่วยรับมือกับวัฒนธรรมใช้แล้วทิ้งได้เป็นอย่างดี
พลาสติกคือหนึ่งในวัสดุยอดฮิตในการใช้ผลิตกล่องอาหาร นั่นเพราะด้วยราคาที่ไม่แพง แข็งแรงทนทาน และมีน้ำหนักเบา พลาสติกจึงตอบโจทย์เป็นอย่างมากต่อการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะกับการพกพาไปใช้งานในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่บนเทือกเขาจนถึงห้องทำงานภายในเรือดำน้ำ แต่คำถามคือ
กล่องอาหารจากพลาสติกปลอดภัยจริงไหม ? แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าชนิดไหนปลอดภัย ?
หลายคนอาจจะยังติดภาพความเป็นผู้ร้ายของพลาสติก ที่ไม่ได้เป็นมิตรกับร่างกายของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แต่ในความเป็นจริงนั้น พลาสติกหลายชนิดไม่ได้ทำให้ร่างกายของสิ่งมีชีวิตได้รับอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Polyethylene Terephthalate (PETE) และ High Density Polyethylene (HDPE) ซึ่งเป็นพลาสติกคุณภาพสูง ปลอดภัย ไม่มีการปล่อยสารเคมีใด ๆ เข้าสู่อาหาร และร่างกาย พลาสติกทั้งสองประเภทนี้จึงได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในการผลิตเป็นภาชนะ และบรรจุภัณฑ์อาหาร ไม่ว่าจะเป็นขวดน้ำ ขวดซอส หรือกระปุกแยม อีกทั้งด้วยความที่ PETE และ HDPE เป็นพลาสติกคุณภาพสูง จึงทำให้พลาสติกประเภทนี้สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าพลาสติกประเภทอื่น ๆ
Low Density Polyethylene (LDPE) กับ Polypropylene (PP) คือพลาสติกอีกสองประเภทที่เป็นที่นิยมในอุตสาหกรรมอาหาร และบรรจุภัณฑ์ไม่แพ้กัน เพียงแต่จุดเด่นของพลาสติกสองประเภทนี้จะมีความหนาแน่นที่ต่ำกว่า นิ่ม และยืดหยุ่นกว่า แต่ก็ทนทานต่อการฉีกขาดได้เป็นอย่างดี แม้จะมีความทนทานน้อยกว่า HDPE แต่ก็แลกมาด้วยความโปร่งใส พลาสติกสองประเภทนี้จะเป็นที่นิยมในการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายง่าย และไม่ต้องการความคงทนมาก เช่น ขวดน้ำพลาสติกที่สามารถบีบให้แบนได้ด้วยมือ รวมถึงแผ่นฟิล์มถนอมอาหารปลอดเชื้อ
การกลับมาของกระแสกล่องอาหาร
ครั้งหนึ่งในอดีต กล่องอาหารเคยเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคหลังสงคราม ที่ภรรยามักจะแพ็กอาหารให้สามีไปทานในสถานที่ทำงาน รวมถึงเด็ก ๆ ที่มักจะหอบหิ้วกล่องอาหารของตัวเองไปโรงเรียน และแม้พฤติกรรมการพกพากล่องอาหารจะไม่เคยหายไปไหน แต่ในปี 2017 ที่ผ่านมา ที่กระแสกล่องอาหารได้กลับมาอยู่ในกระแสนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Instagram จนเกิดกระแสแฮชแท็ก #lunch และ #lunchbox ที่พุ่งสูงถึง 53 ล้านครั้งเลยทีเดียว
จากสถิติระบุไว้ว่า กลุ่มผู้ใช้แฮชแท็กดังกล่าวเยอะที่สุดคือกลุ่มคนเจนวาย หรือมิลเลนเนียล นั่นเพราะว่าคนกลุ่มนี้หันมาให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพ และทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการมากขึ้น ซึ่งการเตรียมอาหารมาเองจากบ้านช่วยตอบโจทย์ในแง่ที่พวกเขาสามารถควบคุมคุณประโยชน์และแคลอรีในอาหารมือหนึ่ง ๆ ได้อย่างชัดเจน ทั้งด้วยความไม่ไว้วางใจต่ออุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบันก็ส่งผลให้ผู้คนเปลี่ยนมาทำอาหารด้วยตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ
อีกสาเหตุหนึ่งที่กล่องอาหารกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งก็ด้วยความตระหนักต่อวัฒนธรรมการโยนทิ้ง และปัญหาขยะล้นโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในสังคมปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญและเห็นคุณค่าของการรีไซเคิล ซึ่งการใช้กล่องอาหารก็นับว่าตอบสนองต่อเรื่องนี้เป็นอย่างดี ทั้งยังไม่เป็นการไปเพิ่มขยะโดยไม่จำเป็นอีกด้วย
เพราะกล่องอาหารคืออีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยรับมือกับวัฒนธรรมโยนทิ้งได้อย่างอยู่หมัด อาจเริ่มต้นง่าย ๆ จากหนึ่งวันในทุก ๆ สัปดาห์ การเริ่มชักชวนเพื่อน ๆ รอบตัวให้พกกล่องอาหารไปทานมื้อกลางวันด้วยกันก็ดูจะเป็นความคิดที่เข้าท่าอยู่ไม่น้อยเลยว่าไหม ?
อ้างอิง:
https://on.natgeo.com/2XI3z4O
www.chemicalsafetyfacts.org/keeping-lunch-cool-the-chemistry-of-lunchboxes/
https://www.care2.com/greenliving/safe-plastics-for-lunchboxes.html
http://mynontoxictribe.com.au/non-toxic-lunchbox/
https://www.telegraph.co.uk/news/2017/07/08/lunchboxes-make-comeback-workers-compete-instagram-worthy-pack2/
Sorry, the comment form is closed at this time.