09 Jun วายร้ายหรือที่รัก: พลาสติก และโควิด-19 ตอนที่ 2
ในบทความหัวข้อ วายร้ายหรือที่รัก: พลาสติก และโควิด-19 ตอน 1 ได้เล่าย้อนไปถึงความตั้งใจดีของ ลีโอ เบคแลนด์ (Leo Baekeland) ที่ได้สังเคราะห์ ‘เบเคอไลต์ (Bakelite)’ ตัวเลือกที่ใช้เป็นวัสดุทดแทนในการผลิตข้าวของเครื่องใช้ชนิดต่าง ๆ โดยมี ‘ถุงพลาสติกหูหิ้ว (T-shirt plastic shopping bags)’ ของสเตียน กุสตาฟ ทูลิน (Sten Gustaf Thulin) เป็นมุดหมายที่แสดงถึงความนิยมสูงสุดในการใช้วัสดุมหัศจรรย์นี้ของสังคมมนุษย์ รวมถึงการนำพลาสติกไปใช้ให้เกิดในวงการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่สวนทางกับการพัฒนาระบบการจัดการของเหลือที่เกิดจากวัสดุชนิดนี้ จนนำมาสู่ปัญหาเรื่อง ขยะพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง และต่อเนื่องมาแม้ในท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19
โควิด–19: เหรียญสองด้านของพลาสติก
รายงานของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 ทำให้ปริมาณของขยะมูลฝอยรวม (solid waste) ทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวมีปริมาณลดลง โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครลดลง 11 % คือจากปริมาณขยะมูลฝอยรวมปกติ 10,560 ตันต่อวัน เป็น 9,370 ตันต่อวัน, ภูเก็ตลดลงลด 13% จาก 970 ตันต่อวัน เป็น 840 ตันต่อวัน, นครราชสีมาลดลง 19% ลดลงจาก 240 ตันต่อวัน เป็น 195 ตันต่อวัน และเมืองพัทยาลด 55% จาก 850 ตันต่อวัน เป็น 380 ตันต่อวัน เป็นต้น แต่เมื่อวิเคราะห์เฉพาะปริมาณของ ขยะพลาสติก ที่เกิดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ ตัวเลขกลับโตสวนทางในเกือบทุกจังหวัดของประเทศไทยอย่างมีนัยยะสำคัญ
ตามไทมไลน์ช่วงต้นของการเกิดโรคระบาด จะเห็นว่าร้านกาแฟ ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งประกาศงดรับภาชนะใช้ซ้ำของลูกค้าเพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของไวรัส นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการกลับมาใช้ภาชนะพลาสติกที่ส่วนใหญ่ถูกใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ที่อาจจะเป็นส่วนสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของปริมาณขยะพลาสติกในระยะเวลาต่อมา และเมื่อคนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตและทำงานกันที่บ้านจากการประกาศล็อคดาวน์ของรัฐบาล การสั่งของกิน-ของใช้แบบเดลิเวอรี่จึงโตขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย จนทำให้ปริมาณขยะภาชนะพลาสติกพุ่งสูงถึง 300% (แตกต่างจากตัวเลขที่สถาบันสิ่งแวดล้อมประเมิณไว้ที่ 10 – 20% ในสถานการณ์ปกติ) ความจริงข้อนี้ถูกทำให้น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้นจากรายงานของกรุงเทพมหานครที่ระบุว่า ในเดือนเมษายน 2563 มีปริมาณขยะพลาสติกทั้งหมด 3,440 ตัน/วัน (37% ของปริมาณขยะทั้งหมด 9,370 ตันต่อวัน) เพิ่มขึ้นจากปี 2562 (2,120 ตันต่อวัน) ที่ 1,320 ตัน/วัน (เพิ่มขึ้นประมาณ 62%) ประกอบด้วยขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ 660 ตัน/วัน (19%) และขยะพลาสติกปนเปื้อน 2,780 ตัน/วัน (81%) นี่ยังไม่นับรวมตัวเลขจากขยะติดเชื้อที่ส่วนใหญ่จะเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้วโดยมีปริมาณรวมทั้งหมดที่ประมาณ 50 ตันต่อวัน ในขณะที่สภาวะปกติมีขยะติดเชื้ออยู่ที่ 43 ตันต่อวันเท่านั้น
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่จะเห็นกระแสข่าวในประเด็นดังกล่าวออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเดือนที่ผ่านมา ซึ่งในบางข่าวมมีการระบุไปถึงขั้นที่ว่า “การระบาดของไวรัสโควิด-19 จะสร้างมลพิษพลาสติกและวิกฤตการจัดการของเสียระลอกใหม่ที่รุนแรงกว่าเดิม” แต่ถ้ามองออกไปให้เห็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญจะเห็นว่าพลาสติกมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยลดและคลี่คลายความรุนแรงของโรคระบาดได้ สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้งสำหรับการแพทย์ (Medical disposable face masks) ที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หน้ากากชนิดนี้ทำขึ้นจากแผ่นใยสังเคราะห์ (Non-woven fabric) ประกอบด้วย 3 ชั้น โดยชั้นที่มีความสำคัญที่สุดคือชั้นกลาง หรือ “เมลท์โบรน” ที่ทำจากเส้นใยพลาสติกพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) หรือพีพี เพราะมีจุดหลอมเหลวต่ำเมื่อเทียบกับพลาสติกชนิดอื่นๆ จึงเหมาะจะนำมาหลอมขึ้นรูป โดยเส้นใยที่ได้จะมีลักษณะเล็กละเอียดในระดับนาโน – ไมโครเมตร ช่วยป้องกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองขนาดเล็กแต่ยังระบายอากาศได้ดีกว่าวัสดุอื่น ๆ นอกจากนี้เส้นใยพีพียังมีน้ำหนักเบา ต้นทุนต่ำ และเหมาะแก่การใช้แล้วทิ้งอีกด้วย ในต่างประเทศเองแม้ว่าจะไม่นิยมใช้หน้ากากอนามัยประเภทนี้กันสักเท่าไร และบางส่วนก็เห็นว่าอุปกรณ์จำเป็นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ทางสมาคมครูผู้ฝึกดำน้ำมืออาชีพ (Professional Association of Diving Instructors: PADI) จึงนำขยะพลาสติกจากทะเล เช่น ขวดน้ำและตาข่าย มาแปรรูปเป็นเส้นใยโพลีเอสเตอร์ (Polyester) รีไซเคิลเพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยทั่วไป (Non-medical grade face masks) ทางสมาคมระบุว่าหลังจากเปิดขายก็มีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากถึง 15,000 ออเดอร์ และช่วยรีไซเคิลขยะพลาสติกในทะเลไปแล้ว 1,267 ปอนด์ (575 กิโลกรัม)
คุณสมบัติที่ดีของพลาสติกยังถูกทำให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนวัตกรรมนานาชนิดที่ถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสที่ยังไม่มีวัคซีนรักษานี้ ตัวอย่างเช่น Personal Protective Equipment (PPE) หรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองทางการแพทย์ ที่ทำจากพลาสติกโดยอาศัยคุณสมบัติสำคัญของวัสดุที่สามารถป้องกันของเหลวซึมผ่านได้เป็นอย่างดี, แว่นครอบตา (Goggles) และกระบังป้องกันใบหน้า (Face shield) ที่บุคลากรทางการแพทย์ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันใบหน้าและดวงตาจากละอองสารคัดหลั่งระหว่างทำหัตถการ (Swab) หรือใกล้ชิดผู้ป่วย ส่วนมากทำจากพอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate: PC) เพราะแข็งแรงทนทาน ทนรอยขีดข่วนได้ดี แต่ยังมีความใสและน้ำหนักเบา, ชุดหมี (Coverall) และชุดกาวน์ (Medical gown) ช่วยป้องกันผู้สวมใส่จากของเหลวหรือของแข็งที่ติดเชื้อ รวมถึงการซึมผ่านของสารเคมีและเชื้อโรคต่าง ๆ ตั้งแต่ศีรษะและลำตัวไปจนถึงข้อมือและข้อเท้า แต่ยังสามารถระบายอากาศได้ดี โดยอุปกรณ์ทั้งสองชนิดทำจากเส้นใยพลาสติกประเภทพอลิโพรไพลีน (Polypropylene) และพลาสติกพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (LLDPE) นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่ทำจากพลาสติกที่น่าสนใจ เช่น อุปกรณ์ป้องกันเชื้อแบบเคลื่อนที่ (Mobile Isolation Unit) อาทิ ห้องตรวจเชื้อความดันลบหรือบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber), แคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบ (Patient Isolation Capsule) และแคปซูลเคลื่อนย้ายผู้ป่วยความดันลบขนาดเล็ก สำหรับเข้าเครื่อง CT Scan (Small Patient Isolation Capsule for CT Scan) โดยอุปกรณ์เหล่านี้มีวัสดุหลักเป็นพลาสติกประเภทพอลิไวนิลคลอไรด์ (Polyvinyl chloride: PVC) ทั้งแบบใสและแบบผ้าใบ เพื่อให้สามารถมองเห็นทะลุผ่านได้อย่างชัดเจนและไม่มีแสงสะท้อน อีกทั้งยังสามารถใช้งานซ้ำได้หลายครั้งผ่านการทำความสะอาดด้วยวิธีการฆ่าเชื้อของโรงพยาบาล
ในช่วงที่มีการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดนั้น พลาสติกเองก็มีส่วนให้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตได้ปลอดภัยมากขึ้น การสั่งอาหารแบบส่งถึงบ้านช่วยส่งเสริม Social Distancing และเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของโรคระบาดโควิด-19 อาหารหลากชนิดที่ในอดีตสามารถเน่าเสียได้ง่าย เมื่อนำมาทำให้สุกและใส่ไว้ในบรรจุภัณฑ์พลาสติกก็จะมีอายุการเก็บรักษาที่ยาวนานขึ้น นั่นทำให้เราสามารถสำรองอาหารและน้ำดื่มสะอาดไว้ใช้บริโภคและอุปโภคในช่วงโรคระบาดได้อย่างสะดวกสบาย ข้อเท็จจริงดังกล่าวถูกผลิตซ้ำผ่าน Lauren Singer นักแสดงสาวชื่อดังและนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมตัวยงที่มีไลฟ์สไตล์แบบ Zero Waste จากนิวยอร์ก ซิตี้ โดยเธอได้ออกมาโพสต์ผ่านไอจีที่มีผู้ติดตามกว่า 400,000 คน ว่า “ในช่วงโควิด-19 นี้ ฉันจำยอมต้องสละแนวคิดที่ฉันถือปฏิบัติมาตลอด และซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่เป็นพลาสติก” ในระดับรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต่างกลับมาทบทวนแผนการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกันอีกรอบ ประเทศในเอเชียอย่างอินเดียเลื่อนการห้ามใช้ถุงพลาสติกและขวดน้ำพลาสติกออกไปในรัฐทมิฬนาฑู ร้านค้าทั่วเกาะอังกฤษไม่คิดค่าถุงสำหรับการชอปออนไลน์เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา หลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ Maine, California, Oregon และ New Hampshire ยกเลิกการห้ามใช้ถุงพลาสติกและชุดอุปกรณ์ใช้รับประทานอาหารที่ทำจากพลาสติกออกไปอย่างไม่มีกำหนด โดยทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนในประเทศ
ขยะพลาสติก: การคิดแบบองค์รวมคือทางออก ?
แน่นอนว่าก่อนการอุบัติขึ้นของโรคระบาด ปัญหาการจัดการขยะถือเป็นสิ่งท้าทายของคนทั่วโลก และแม้แต่ในวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่สังคมมนุษย์กำลังเผชิญอยู่ในตอนนี้ เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นสิ่งจำเป็นและทุกภาคส่วนต้องกลับมาทบทวนลำดับความสำคัญกันใหม่ โดยเราสามารถวิเคราะห์ประเด็นการจัดการ ขยะพลาสติก ออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างรวมตั้งแต่ภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน
หน่วยงานภาครัฐควรเร่งผลักดันข้อบังคับและมาตรการการจัดการขยะที่พุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือน และการบริหารจัดการของเสียให้เป็นศูนย์ โดยเน้นไปที่การหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ กิจกรรมทั้งหมดที่กล่าวมาจะเป็นจริงได้ ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ฟังก์ชันที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการก็คือ การมีส่วนสำคัญในการกำหนดและริเริ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะ เพราะนั่นจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการขยะของทุกยูนิตในสังคมอย่างยั่งยืน รวมถึงช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในแง่ของการจ้างงานที่มีคุณค่า สอดคล้องกับหลักอาชีวอนามัย และส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนในเรื่องการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ในส่วนของประชาชนเอง การคัดแยกขยะตั้งแต่แหล่งการเกิดขยะเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยเพิ่มโอกาสในการนำวัสดุเข้าสู่กระบวนการแปรรูปและนำกลับมาใช้งานอีกครั้งหนึ่ง หลายคนอาจจะยังแย้งในใจว่าขยะที่แยกไว้อย่างดีนั้น สุดท้ายก็ถูกนำไปเททิ้งรวมกันหลังรถขยะและจบลงที่หลุมฝังกลบ ในความเป็นจริงมีการแยกขยะ โดยเจ้าหน้าที่ประจำรถขยะจะเป็นด่านแรกที่ทำให้เกิดกิจกรรมดังกล่าว จากนั้นเมื่อขยะเดินทางไปถึงโรงรับขยะก็จะมีการคัดแยกขยะด้วยมือและใช้เครื่องจักรเข้าช่วย ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจจะถูกนำมาสื่อสารน้อย เพราะภาพจำด้านลบที่หลายคนเห็นขยะถูกเทรวมกันนั้นมีอิทธิพลมากกว่า ยิ่งในช่วงของการเกิดโรคระบาดโควิด-19 นี้ เรายิ่งต้องให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นพิเศษ เพราะขยะติดเชื้ออย่างหน้ากากอนามัยที่ถูกทิ้งปะปนไปกับขยะอื่น ๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจากอาหารและสินค้าเดลิเวอรี่ ทำให้เกิดอันตรายต่อพนักงานเก็บขยะ และหากถุงขยะดังกล่าวยังไมได้ถูกกำจัดอย่างถูกวิธี อาจเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในระลอกต่อมาอีกด้วย ดังนั้น เราควรแยกทิ้งหน้ากากอนามัย มัดถุงให้มิดชิดและติดป้ายให้ชัดเจนเสมอ
สำหรับภาคเอกชนเองที่ก่อนหน้านี้เน้นการพัฒนาพลาสติกเพื่อความยั่งยืนตามหลักเศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาพลาสติกให้รีไซเคิลได้ง่ายขึ้น (Recyclable) ลดการใช้ทรัพยากรการผลิต (Reduced material use) แต่เพิ่มประสิทธิภาพของวัสดุ และการนำขยะพลาสติกมาหมุนเวียนเพื่อใช้ประโยชน์เป็นวัตถุดิบต่อไป อาจจะต้องเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในประเด็นของการหารือแนวทางการจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรมกับเครือข่ายต่าง ๆ ที่ต้องครอบคลุมความร่วมมือระดับประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ที่นำขยะพลาสติกซึ่งเพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 กลับคืนสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือระดับนานาชาติ ได้แก่ Alliance to End Plastic Waste และ The Ocean Cleanup ที่มีบริษัทชั้นนำของประเทศไทยอย่าง เอสซีจี เป็นฟันเฝืองสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงาน นอกจากนี้ภาคเอกชนยังต้องให้ความสำคัญกับการคิดค้นวิธีการนำ ขยะพลาสติก ที่ติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงโรคระบาดกลับมาใช้ได้ใหม่ โดยต้องทำให้ผู้ใช้งานเชื่อมั่นได้ว่าวัสดุพลาสติกที่นำกลับมาหมุนเวียนใช้นั้นจะปลอดเชื้อ 100% โดยในปัจจุบันขยะพลาสติกติดเชื้อพวกนี้มีปลายทางสุดท้ายอยู่ที่เตาเผาชีวมวล ซึ่งในระยะยาวมีแนวโน้มทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ
วิกฤติโควิด-19 ช่วยทำให้สังคมได้กลับมาประเมินคุณค่าของพลาสติกในมุมมองใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ถูกถาโถมด้วยกระแสความเป็นผู้ร้ายที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การปรับเลนส์ที่ใช้มองวัสดุมหัศจรรย์นี้เป็น New Normal ที่ไม่ใช่แค่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตาม แต่มันยังรวมถึงการหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ด้านวัสดุศาสตร์ของโลกชิ้นนี้ถูกใช้งานอย่างยั่งยืน
อ้างอิง:
https://www.theguardian.com/environment/2020/mar/27/rightwing-thinktanks-use-fear-of-covid-19-to-fight-bans-on-plastic-bags
https://www.politico.com/news/2020/04/14/coronavirus-risks-a-return-of-the-throwaway-culture-187464
https://www.politico.eu/article/coronavirus-risks-shift-back-to-throw-away-culture/
http://www.tei.or.th/th/blog_detail.php?blog_id=51
https://edition.cnn.com/2020/04/22/us/face-masks-ocean-plastic-coronavirus-trnd/index.html
https://www.weforum.org/agenda/2020/05/plastic-pollution-waste-pandemic-covid19-coronavirus-recycling-sustainability/
https://blogs.worldbank.org/voices/plastics-coronavirus-could-reset-clock
https://time.com/5831005/coronavirus-plastic-industry/
Sorry, the comment form is closed at this time.