04 Jul ถาดอาหารรีไซเคิลจากขยะพลาสติกในทะเล
สายกรีนต้องใช้ สายกลัว #โควิด19 ต้องไม่พลาด
1.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัทสัญชาตินอร์เวย์สองแห่ง คือ ZincIn และ Parx Materials จับมือกันคิดค้น “ถาดใส่อาหารรูปแบบใหม่” ที่ผลิตจากอุปกรณ์การทำประมงที่ใช้งานไม่ได้แล้ว โดยวัสดุเหล่านี้ถูกเก็บกู้ขึ้นมาจากในทะเล พูดง่าย ๆ ก็คือ มันก็ขยะทะเลนั่นเอง ซึ่งแห อ่วน และตาข่ายพลาสติกนั้นเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่สร้างปัญหาให้กับสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในห่วงโซ่อาหารทางทะเล (อยากอ่านเรื่องขยะทะเลเพิ่มเติม คลิกที่ www.plasticity.in.th/archives/1535 และ www.plasticity.in.th/archives/1546)
รายงานจาก Circular Ocean โปรเจ็คที่ศึกษาและวิจัยปัญหาของขยะทะเลที่เกิดขึ้นจากการทำประมงในเขตซีกโลกเหนือและมหาสมุทรอาร์กติก (Northern Periphery & Arctic: NPA) ระบุว่า ในแต่ละปีมีอุปกรณ์ทำประมงที่เป็นขยะทะเลราว 70,500 ตัน โดยในปี 2016 มีการรีไซเคิลขยะทะเลเหล่านี้กลับเข้าสู่ระบบเพียง 152 ตันเท่านั้น ดังนั้นจำนวนขยะที่เหลืออยู่นั้น จึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อน้องแมวน้ำ น้องสิงโตทะเล และน้องวาฬ
2.
ภาชนะใส่อาหารชนิดนี้จึงถือเป็นเรื่องราว ๆ ดี ที่เกิดขึ้นในช่วงปีแห่งความท้าทายของพวกเราทุกคน เพราะช่วยลดปริมาณขยะในทะเลได้ โดยนำวัสดุที่ยังมีคุณค่ากลับมาใช้งานให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบโจทย์แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เป็นทางรอดสู่ความยั่งยืนทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพวกเราทุกคน
3.
ที่น่าใจสุด ๆ คือ ถาดใส่อาหารแสนรักษ์โลกนี้ ยังได้รับการการันตีว่าใช้แล้วปลอดเชื้อโควิด-19 แน่นอน
ข้อนี้อาจจะฟังดูแล้วขัดกับความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ที่มองว่าเชื้อโรคมีอายุอยู่บนพื้นผิวของพลาสติกได้นานสูงสุดถึง 9 วัน แต่นั่นไม่ใช่สำหรับถาดรีไซเคิลนี้ เพราะทางบริษัทผู้พัฒนาได้ผสม trace elements หรือแร่ธาตุรองที่จำเป็นกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์
โดยสารที่เติมเข้าไปดังกล่าวจะช่วยหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคได้สูงถึง 99.9% เรียกได้ว่าภาชนะพลาสติกรีไซเคิลชนิดใหม่นี้ ตอบโจทย์การรักษ์โลกและเซฟตัวผู้ใช้งานให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 (และเชื้อโรคอื่น) ได้ด้วย
4.
น่าใช้งานแบบนี้ จะบอกว่ามีร้านอาหารต่อคิวสั่งไปใช้งานแล้วกว่า 10,000 ชิ้น และมีแนวโน้มที่จะมีออเดอร์เพิ่มเข้ามาเรื่อย ๆ เพราะเป็นภาชนะที่ตอบโจทย์กลุ่มคนรักษ์สิ่งแวดล้อม และพวกที่มีความกังวลเรื่องสุขอนามัยด้วย เห็นแบบนี้ก็อยากให้ร้านอาหารในบ้านเราลองนำมาใช้งานกันบ้างก็ดีเหมือนกันนะครับ
อ้างอิง
– https://www.recyclingproductnews.com/…/germ-resistant-food-…
– http://parxmaterials.com/…/ocean-waste-plastic-fastfood-tra…
– http://www.circularocean.eu/…/Circular-Ocean_Research_Produ…
Sorry, the comment form is closed at this time.