19 Sep ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)
การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ดังนี้
- รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และเห็นชอบมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
- ในระยะต่อไป หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแผนระดับที่ 3 ที่ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ) วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 (เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) และวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 (เรื่อง คู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน… ต่อคณะรัฐมนตรี) ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้รับความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการด้วย
- สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และในปีต่อ ๆ ไป ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
ทส. รายงานว่า
1.จากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ.2564) สรุปได้ว่าเป้าหมายที่ 1 การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 42 (จากเป้าหมายร้อยละ 75) และเป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 25 (จากเป้าหมายร้อยละ 40) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)
อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะพลาสติกที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโดยไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะยังคงมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยไม่ได้คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี ความร่วมมือของประชาชนในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวยังมีน้อยมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเกินความจำเป็น และเพิ่มขึ้นนับจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขยะพลาสติกบางส่วนหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำก่อให้เกิดปัญหาขยะในแหล่งน้ำและในทะเล อีกทั้งระบบการจัดการขยะที่มีในปัจจุบันยังขาดการคัดแยก การรวบรวมเพื่อนำกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปในรูปแบบความร่วมมือเชิงสมัครใจโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับหนึ่ง สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นบางส่วน
2.ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ขยะพลาสติก การบริหารจัดการที่ผ่านมา ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการ นโยบายที่เกี่ยวข้องประชุมระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและยก (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2565เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯและให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ โดยเพิ่มเติมตามความเห็นของ กก.วล. และให้นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไป รวมทั้งให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง การวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกต่อไป ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของ กก.วล. ด้วยแล้ว
3.สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯสรุปได้ ดังนี้
วัตถุประสงค์
1) เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก
2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง
วิสัยทัศน์ : ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)
กรอบแนวคิด : กรอบแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่และการบริหารจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ดังนี้
1) การจัดการ ณ ต้นทาง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) การผลิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการกำหนดหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ในการร่วมรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวัฏจักรชีวิตตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ในการจัดการขยะพลาสติก
2) การจัดการ ณ กลางทาง ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถใช้ซ้ำ และเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลโดยผู้ประกอบการ การลดหรืองดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อภาระต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery) และพลังงาน (Energy Recovery) ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัด (Final Disposal) ให้น้อยที่สุด
(3) การจัดการ ณ ปลายทาง ใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน (Integrated Solid Waste Management) ตามที่กำหนดไว้ในการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยจัดให้มีระบบคัดแยกและนำกลับคืนวัสดุรีไซเคิล ระบบกำจัดแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนการฝังกลบขั้นสุดท้าย เช่น การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ยเพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด
4) การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสนับสนุนให้การจัดการขยะพลาสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. รูปแบบความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต 2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก (ภาคบังคับ) 3. หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ (Guideline/Agreement) การออกแบบผลิตภัณฑ์ 4.สัญลักษณ์ประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก (Eco Mark) 5.มาตรฐานและระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล (PCR Mark) 6. มาตรฐานและคุณลักษณะเศษพลาสติก 7. Digital Platform Recycle 8. รายการสินค้าสีเขียว (Green Product) ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) 9. ผลงานวิจัยและพัฒนาตามหัวข้อที่กำหนด และ 10. ฐานข้อมูลพลาสติกของประเทศ (ฐานข้อมูลกลาง)
เป้าหมายภายในปี พ.ศ.2570
1) ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมายที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง ร้อยละ 100ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้วและถ้วย/แก้วพลาสติก
2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100ได้แก่ ขวดพลาสติก(ทุกชนิด) ฝ่าขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก
3) ลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50
4) มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภท ตามที่กำหนดในแผน ปฏิบัติการฯ
มาตรการ
1) มาตรการการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดกลุ่มและกำหนดประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำกลับมารีไซเคิล กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกและยกระดับให้เป็นมาตรฐานเชิงบังคับ กำหนดสัญลักษณ์ให้กับประเภทผลิตภัณฑ์พลาสที่ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรือต้องนำไปจัดการหรือกำจัด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและสร้างการเรียนรู้ของประชาชน สนับสนุนให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกตามการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก นำหลักการความรับผิดชอบ EPR มาใช้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก
(2) มาตรการการลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อเนื่องและขยายผลให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ทั้งเจ้าของตราสินค้าขนาดใหญ่ (Brand owner) และในพื้นที่ท้องถิ่น (Local Brand)สนับสนุนการลดขยะพลาสติก รณรงค์สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ตลาดสดของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตลาดเอกชนในการสนับสนุนการลดขยะพลาสติก ขอความร่วมมือประชาชนสนับสนุนการลดขยะพลาสติกยกระดับให้หน่วยงานภาครัฐและร้านค้าในสถานที่ราชการเป็นต้นแบบการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รณรงค์และสร้างแคมเปญระดับประเทศเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะภายใต้แนวทาง “งดการให้-ปฏิเสธการรับ ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว”
3) มาตรการการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน ที่สอดคล้องกับวิธีการกำจัดที่ปลายทาง สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องนำกลับเข้าระบบรีไซเคิล และต้องทิ้งเพื่อนำไปกำจัด โดยเฉพาะพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ สนับสนุนให้มีการสร้างโรงหมักปุ๋ยเพื่อรองรับการจัดการพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพพร้อมกับการจัดการขยะอินทรีย์และเพิ่มศักยภาพระบบการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก
(4) มาตรการจัดการขยะพลาสติกในทะเล มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล โดยการสำรวจพื้นที่ระบบเก็บขนของ อปท. บริเวณริมฝั่งคลองริมแม่น้ำ และริมชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่ทำให้ขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลและเพิ่มระบบการเข้าถึงพื้นที่ ดำเนินตามมาตรการการจัดการขยะบนพื้นที่เกาะ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดและควบคุมกรณีมีการขนส่งขยะมากำจัดบนฝั่ง วางระบบคัดแยกรวบรวม และการจัดการขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่น สำหรับเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวและเครื่องมือประมงจะต้องนำขยะพลาสติกมากำจัดบนฝั่งตามที่กำหนด วางระบบในการป้องกันจัดเก็บ ขยะพลาสติก และนำส่งไปจัดการสำหรับขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเล
การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ
1) กลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับมีความเข้าใจ ยอมรับ ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติและใช้กลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก การใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง เครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด
2) การติดตามประเมินผล โดยกำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผล และผลกระทบของการดำเนินงานภายใต้มาตรการที่กำหนดเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงหรือใช้ในการทบทวนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม และรายงานผลการดำเนินงานต่อ กก.วล. และเผยแพร่สู่สาธารณะ
3.4 ความเชื่อมโยงกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)
2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
3) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)
4) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570
5) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573
6) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ. 2565-2570)
(7) ความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศ
ที่มา: https://www.greennetworkthailand.com/plastic-waste-management-2566-2570-2/
Sorry, the comment form is closed at this time.