ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

ครม. มีมติรับทราบและเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566 ซึ่งมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ณ สันติไมตรี (หลังนอก) โดย ครม.มีมติรับทราบและเห็นชอบ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ดังนี้

  1. รับทราบแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) และเห็นชอบมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไปตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ
  2. ในระยะต่อไป หากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีแผนระดับที่ 3 ที่ต้องเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการตามขั้นตอนของการเสนอแผนระดับที่ 3 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2560 (เรื่อง แนวทางการเสนอแผนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2562 (เรื่อง การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิบัติ) วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2563 (เรื่อง แนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 ที่เป็นแผนปฏิบัติการด้าน… เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี) และวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2564 (เรื่อง คู่มือแนวทางการจัดทำแผนระดับที่ 3 และการเสนอแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน… ต่อคณะรัฐมนตรี) ตามความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
  3. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป รวมทั้งให้รับความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการด้วย
  4. สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 และในปีต่อ ๆ ไป ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1.จากการประเมินผลการดำเนินงานตามเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 (ข้อมูล ณ ปี พ.ศ.2564) สรุปได้ว่าเป้าหมายที่ 1 การลด เลิกใช้พลาสติกเป้าหมายด้วยการใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 42 (จากเป้าหมายร้อยละ 75) และเป้าหมายที่ 2 การนำพลาสติกเป้าหมายภายในประเทศกลับไปใช้ประโยชน์เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถดำเนินการได้ร้อยละ 25 (จากเป้าหมายร้อยละ 40) โดยผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์มากที่สุด ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด)

อย่างไรก็ตาม การจัดการขยะพลาสติกที่ผ่านมายังมีปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานโดยไม่มีกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับเพื่อใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะพลาสติก โดยเฉพาะยังคงมีการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกโดยไม่ได้คำนึงถึงการนำกลับมาใช้ประโยชน์ ทำให้เกิดขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นทุกปี ความร่วมมือของประชาชนในการลด เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวยังมีน้อยมีการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกมากเกินความจำเป็น และเพิ่มขึ้นนับจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขยะพลาสติกบางส่วนหลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำก่อให้เกิดปัญหาขยะในแหล่งน้ำและในทะเล อีกทั้งระบบการจัดการขยะที่มีในปัจจุบันยังขาดการคัดแยก การรวบรวมเพื่อนำกลับไปหมุนเวียนเป็นวัตถุดิบใหม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นไปในรูปแบบความร่วมมือเชิงสมัครใจโดยได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภค หน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับหนึ่ง สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกและนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ได้เป็นบางส่วน

2.ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ขยะพลาสติก การบริหารจัดการที่ผ่านมา ปัญหา อุปสรรคในการดำเนินการ นโยบายที่เกี่ยวข้องประชุมระดมความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแนวทางและยก (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) โดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2565เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯและให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ โดยเพิ่มเติมตามความเห็นของ กก.วล. และให้นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ต่อไป รวมทั้งให้ ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษ ประสานกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เรื่อง การวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับการจัดการขยะพลาสติกต่อไป ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษได้ปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามความเห็นของ กก.วล. ด้วยแล้ว

3.สาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯสรุปได้ ดังนี้

วัตถุประสงค์

1) เพื่อเป็นทิศทางการดำเนินงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการและขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก

2) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาการบริหารจัดการพลาสติกของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน โดยดำเนินงานอย่างเป็นระบบและครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การนำเข้า การจำหน่าย การบริโภค และการจัดการ ณ ปลายทาง

วิสัยทัศน์ : ก้าวสู่การจัดการพลาสติกที่ยั่งยืน ด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Moving Towards Sustainable Plastic Management by Circular Economy)

กรอบแนวคิด : กรอบแนวคิดการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่และการบริหารจัดการขยะตามวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ ดังนี้

1) การจัดการ ณ ต้นทาง ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco Design) การผลิต และการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมการกำหนดหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย ในการร่วมรับผิดชอบผลิตภัณฑ์ของตนตลอดวัฏจักรชีวิตตามหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (Extended Producer Responsibility: EPR) ในการจัดการขยะพลาสติก

2) การจัดการ ณ กลางทาง ส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคโดยการใช้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกใช้สินค้าและบรรจุภัณฑ์ ที่สามารถใช้ซ้ำ และเรียกคืนกลับไปรีไซเคิลโดยผู้ประกอบการ การลดหรืองดใช้บรรจุภัณฑ์ที่ก่อภาระต่อสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพื่อให้มีการนำทรัพยากรกลับคืนจากของเสียให้มากที่สุดในรูปแบบวัสดุรีไซเคิล (Material Recovery) และพลังงาน (Energy Recovery) ทำให้เหลือขยะที่ต้องกำจัด (Final Disposal) ให้น้อยที่สุด

(3) การจัดการ ณ ปลายทาง ใช้แนวทางการจัดการขยะมูลฝอยผสมผสาน (Integrated Solid Waste Management) ตามที่กำหนดไว้ในการจัดลำดับความสำคัญของการจัดการขยะรูปแบบใหม่ โดยจัดให้มีระบบคัดแยกและนำกลับคืนวัสดุรีไซเคิล ระบบกำจัดแบบผสมผสานโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ก่อนการฝังกลบขั้นสุดท้าย เช่น การเผาเพื่อผลิตพลังงาน และการหมักปุ๋ยเพื่อให้เหลือขยะที่ต้องฝังกลบให้น้อยที่สุด

4) การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการขยะพลาสติก เพื่อสนับสนุนให้การจัดการขยะพลาสติกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ 1. รูปแบบความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นของผู้ผลิต 2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติก (ภาคบังคับ) 3. หลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติ (Guideline/Agreement) การออกแบบผลิตภัณฑ์ 4.สัญลักษณ์ประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก (Eco Mark) 5.มาตรฐานและระบบการรับรองวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์พลาสติกรีไซเคิล (PCR Mark) 6. มาตรฐานและคุณลักษณะเศษพลาสติก 7. Digital Platform Recycle 8. รายการสินค้าสีเขียว (Green Product) ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) 9. ผลงานวิจัยและพัฒนาตามหัวข้อที่กำหนด และ 10. ฐานข้อมูลพลาสติกของประเทศ (ฐานข้อมูลกลาง)

เป้าหมายภายในปี พ.ศ.2570

1) ปริมาณขยะพลาสติกเป้าหมายที่เข้าสู่ระบบฝังกลบขยะลดลง ร้อยละ 100ได้แก่ ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้วและถ้วย/แก้วพลาสติก

2) ผลิตภัณฑ์พลาสติกเป้าหมายเข้าสู่ระบบรีไซเคิล ร้อยละ 100ได้แก่ ขวดพลาสติก(ทุกชนิด) ฝ่าขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก

3) ลดปริมาณขยะพลาสติกที่มีโอกาสหลุดรอดลงสู่ทะเล ร้อยละ 50

4) มีเครื่องมือในการบริหารจัดการขยะพลาสติก 10 ประเภท ตามที่กำหนดในแผน ปฏิบัติการฯ

มาตรการ

1) มาตรการการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการควบคุม ป้องกัน เพื่อลดการเกิดขยะพลาสติก ตั้งแต่การออกแบบการผลิตสินค้าและบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการจัดกลุ่มและกำหนดประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติกเพื่อเพิ่มศักยภาพในการนำกลับมารีไซเคิล กำหนดให้มีหลักเกณฑ์และมาตรฐานสำหรับผลิตภัณฑ์พลาสติกและยกระดับให้เป็นมาตรฐานเชิงบังคับ กำหนดสัญลักษณ์ให้กับประเภทผลิตภัณฑ์พลาสที่ต้องนำกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล หรือต้องนำไปจัดการหรือกำจัด เพื่อให้ง่ายต่อการคัดแยกและสร้างการเรียนรู้ของประชาชน สนับสนุนให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกตามการจัดกลุ่มประเภทผลิตภัณฑ์พลาสติก นำหลักการความรับผิดชอบ EPR มาใช้ในการจัดการบรรจุภัณฑ์พลาสติก

(2) มาตรการการลดขยะพลาสติกในขั้นตอนการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อเนื่องและขยายผลให้ผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และร้านสะดวกซื้อ ทั้งเจ้าของตราสินค้าขนาดใหญ่ (Brand owner) และในพื้นที่ท้องถิ่น (Local Brand)สนับสนุนการลดขยะพลาสติก รณรงค์สร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการอาหารและเครื่องดื่ม ตลาดสดของส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และตลาดเอกชนในการสนับสนุนการลดขยะพลาสติก ขอความร่วมมือประชาชนสนับสนุนการลดขยะพลาสติกยกระดับให้หน่วยงานภาครัฐและร้านค้าในสถานที่ราชการเป็นต้นแบบการลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว รณรงค์และสร้างแคมเปญระดับประเทศเพื่อสื่อสารต่อสาธารณะภายใต้แนวทาง “งดการให้-ปฏิเสธการรับ ลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียว”

3) มาตรการการจัดการขยะพลาสติกหลังการบริโภค มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการคัดแยกขยะจากบ้านเรือน อาคาร สำนักงาน ที่สอดคล้องกับวิธีการกำจัดที่ปลายทาง สร้างความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ต้องนำกลับเข้าระบบรีไซเคิล และต้องทิ้งเพื่อนำไปกำจัด โดยเฉพาะพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ สนับสนุนให้มีการสร้างโรงหมักปุ๋ยเพื่อรองรับการจัดการพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพพร้อมกับการจัดการขยะอินทรีย์และเพิ่มศักยภาพระบบการเก็บรวบรวมขยะพลาสติก

(4) มาตรการจัดการขยะพลาสติกในทะเล มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการป้องกันการเกิดขยะพลาสติกในทะเล โดยการสำรวจพื้นที่ระบบเก็บขนของ อปท. บริเวณริมฝั่งคลองริมแม่น้ำ และริมชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัด ที่ทำให้ขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลและเพิ่มระบบการเข้าถึงพื้นที่ ดำเนินตามมาตรการการจัดการขยะบนพื้นที่เกาะ โดยมุ่งเน้นการคัดแยกขยะก่อนนำไปกำจัดและควบคุมกรณีมีการขนส่งขยะมากำจัดบนฝั่ง วางระบบคัดแยกรวบรวม และการจัดการขยะพลาสติกและขยะประเภทอื่น สำหรับเรือท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวและเครื่องมือประมงจะต้องนำขยะพลาสติกมากำจัดบนฝั่งตามที่กำหนด วางระบบในการป้องกันจัดเก็บ ขยะพลาสติก และนำส่งไปจัดการสำหรับขยะพลาสติกที่หลุดรอดลงสู่ทะเล

การขับเคลื่อนแผนสู่การปฏิบัติ

1) กลไกการขับเคลื่อน ได้แก่ การสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญของแผนปฏิบัติการฯ ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกระดับมีความเข้าใจ ยอมรับ ตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมมือในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติและใช้กลไกคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการขยะพลาสติก การใช้เครื่องมือทางการเงินการคลัง เครื่องมือทางสังคมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางที่กำหนด

2) การติดตามประเมินผล โดยกำหนดให้มีการติดตาม ประเมินผล และผลกระทบของการดำเนินงานภายใต้มาตรการที่กำหนดเป็นประจำทุกปี เพื่อนำมาปรับปรุงหรือใช้ในการทบทวนแผนการดำเนินงานให้เหมาะสม และรายงานผลการดำเนินงานต่อ กก.วล. และเผยแพร่สู่สาธารณะ

3.4 ความเชื่อมโยงกับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ

3) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)

4) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570

5) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573

6) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ (พ.ศ. 2565-2570)

(7) ความร่วมมือและความตกลงระหว่างประเทศ

ที่มา: https://www.greennetworkthailand.com/plastic-waste-management-2566-2570-2/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save