ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร: เลือกใช้ให้เป็น ปลอดภัย คุ้มครอง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถุงพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร สามารถป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนได้ จึงรักษาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ยืดอายุการเก็บได้และช่วยลดการเน่าเสียของอาหาร

ประเทศไทยมีการเติบโตของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง จากแรงผลักดันของอุตสาหกรรมปลายทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเป็นอาหาร ซึ่งมีการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกสูงถึง 60% ในรูปแบบของถุงพลาสติก 42% และในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์พลาสติกคงรูป 18%

ถุงพลาสติก มีการเติบโตสูงสุดและต่อเนื่องทุกปี เนื่องจากคุณสมบัติเด่นหลายประการ ได้แก่ มีพลาสติกหลายชนิดให้เลือกใช้ที่ผลิตในประเทศ ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ได้แทบทุกชนิด สามารถป้องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนได้ จึงคุ้มครองรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ยืดอายุการเก็บได้และช่วยลดการเน่าเสียของอาหาร ออกแบบให้ความสะดวกในการใช้งานแก่ผู้บริโภคได้ มีน้ำหนักเบา สิ้นเปลืองพลังงานในการผลิตและการขนส่งต่ำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และราคาต่ำกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ

การเลือกใช้ถุงให้เหมาะสมกับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่งมีความซับซ้อน ผู้ใช้ถุง (ผู้ผลิตอาหาร) จำเป็นต้องมีความรู้ เพื่อให้มีคุณสมบัติครบถ้วน ในบทความนี้จะขอเน้นเฉพาะด้านความปลอดภัย คุ้มครองผลิตภัณฑ์ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

ปลอดภัย

บรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกชนิดที่สัมผัสอาหารต้องมีสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 435 ถุงพลาสติกไม่ว่าทำมาจากเม็ดพลาสติกชนิดใดต้องได้คุณภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ หากต้องการให้ถุงสามารถอุ่นร้อนในเตาไมโครเวฟได้อย่างปลอดภัย จำเป็นต้องผ่านข้อกำหนดใน มอก. 3022

คุ้มครองผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บตามที่ต้องการ

ฟิล์มพลาสติกที่ใช้ทำถุงมีหลายชนิด ให้คุณสมบัติต่างกัน ถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารในเชิงอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ฟิล์มพลาสติกชนิดใดชนิดหนึ่งได้ เพราะไม่มีพลาสติกชนิดใดที่สามารถให้คุณสมบัติที่ต้องการได้อย่างครบถ้วน ด้วยเหตุนี้จึงมีความจำเป็นในการใช้ร่วมกับพลาสติกต่างชนิดหรือใช้ร่วมกับวัสดุอื่น เช่น กระดาษบาง อะลูมิเนียม ในรูปแบบของฟิล์มหลายชั้นที่ผลิตโดยการประกบหรือการรีดร่วม เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ให้สามารถปิดผนึกด้วยความร้อนได้ดีขึ้น ให้สามารถเก็บรักษากลิ่นและรสชาติของผลิตภัณฑ์ไว้ได้นานซึ่งช่วยยืดอายุการเก็บอาหารได้ ให้ความคงรูปเพื่อให้สามารถทรงตัวได้ดีขึ้น เป็นต้น หน้าที่หลักของวัสดุที่ใช้เป็นส่วนประกอบของฟิล์มหลายชั้นสรุปในตาราง

อาหารต่างชนิดเสื่อมคุณภาพต่างกัน อาหารแห้งเสื่อมคุณภาพเพราะไอน้ำ ทำให้ชื้น เยิ้ม เกาะเป็นก้อน นิ่ม หายกรอบ อาหารที่มีน้ำ ไขมันและโปรตีนสูงเสื่อมคุณภาพเพราะก๊าซออกซิเจน ทำให้มีกลิ่นเหม็นหืนและจุลินทรีย์เติบโตได้ดี ผู้ผลิตอาหารจึงต้องทราบข้อมูลเหล่านี้ เพื่อกำหนดสมบัติที่ต้องการของฟิล์มพลาสติกในค่าอัตราการซึมผ่านไอน้ำ (WVTR) และค่าอัตราการซึมผ่านก๊าซออกซิเจน (OTR) ค่าทั้งสองนี้ยิ่งต่ำ ยิ่งป่องกันไอน้ำและก๊าซออกซิเจนได้ดี ผู้ผลิตถุงต้องมีความรู้เกี่ยวกับระดับของ WVTR และ OTR ของฟิล์มชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้ในการกำหนดโครงสร้างฟิล์มหลายชั้นที่เหมาะสมให้แก่ผู้ใช้ถุง ซึ่งมีรายละเอียดมากและไม่กล่าวในบทความนี้

ขั้นตอนการเลือกใช้ที่สำคัญคือ ผู้ใช้ถุงต้องขอตัวอย่างถุงจากผู้ผลิตมาทดลองบรรจุอาหาร แล้วปิดผนึกให้สมบูรณ์ ไม่ให้รั่วซึม จากนั้นทดลองหาอายุการเก็บ หากผลทดสอบผ่าน ก็สามารถออกแบบพิมพ์ถุงและสั่งซื้อถุงมาใช้กับการผลิตได้ เป็นที่สังเกตว่าผู้ผลิตอาหาร SME จำนวนมากในประเทศยังมีการใช้ถุงไม่เหมาะสม อายุการเก็บสั้นเกินไป ตัวอย่างดังรูป

ตัวอย่างการใช้ถุงที่เหมาะสม สามารถให้อายุการเก็บนานตามต้องการ เช่น

การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ถุงพลาสติกมีน้ำหนักเบา ใช้พลังงานต่ำ และปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำกว่าบรรจุภัณฑ์ประเภทอื่น ๆ ตอบโจทย์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนได้

ตัวอย่างการใช้ถุงพลาสติกเป็นทางเลือกที่เพิ่มจาการใช้ขวดแก้วและกระป๋องโลหะเพื่อให้น้ำหนักที่เบากว่า ช่วยประหยัดพลังงาน ดังรูป

สมบัติอื่นในในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และความสามารถในการรีไซเคิล

ฟิล์มพลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (biodegradable film) เช่น PLA, PBS แม้ว่าไม่ก่อปัญหาขยะเพราะย่อยสลายปนกับเศษอาหารได้ แต่ป้องกันก๊าซออกซิเจนได้ไม่ดี จึงไม่สามารถคุ้มครองให้อาหารมีอายุการเก็บได้นาน เหมาะกับการใช้ทำถุงแบบใช้ครั้งเดียว (single use plastic bag) เช่น ถุงใส่อาหารสด ขนม น้ำจิ้มที่มากับ food delivery เนื่องจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต้องกำหนดอายุการเก็บ หรือ ต้องการเพียง 2-3 วันเท่านั้น นอกจากนี้การผลิต ขึ้นรูป และการใช้กับเครื่องบรรจุอัตโนมัติควบคุมยาก อีกทั้งต้นทุนสูงกว่าฟิล์มหลายชั้นทั่วไปเป็นอย่างมาก

พลาสติกส่วนใหญ่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ต่างชนิดรีไซเคิลด้วยกันไม่ได้ จึงแนะนำให้พิมพ์สัญลักษณ์รีไซเคิลพลาสติกสากล (ดังรูป) ที่บรรจุภัณฑ์ เพื่อให้ง่ายต่อการแยกตามชนิดพลาสติก สำหรับนำไปรีไซเคิลต่อไป

ฟิล์มพลาสติกหลายชั้นที่ต่างชนิดกัน หรือใช้ร่วมกับกระดาษ หรือ อะลูมิเนียม มีการใช้เพื่อให้คุ้มครองผลิตภัณฑ์ได้ดังกล่าวแล้ว ข้อเสียคือไม่สามารถรีไซเคิลได้ ด้วยเหตุนี้ องค์กร CEFLEX ในสหภาพยุโรปจึงได้ร่วมมือทำการศึกษาหาโครงสร้างฟิล์มพลาสติกหลายชั้นที่สามารถรีไซเคิลได้ โดยยังคงสมบัติที่ต้องการไว้ได้ เรียกฟิล์มพลาสติกหลายชั้นนี้ว่า Mono-Material Film นิยมใช้ฟิล์ม PE หลายชั้นที่เกรดต่างกัน (All PE) ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิลเลข 4 หรือ ใช้ฟิล์ม PP หลายชั้นที่เกรดต่างกัน (All PP) ใช้สัญลักษณ์รีไซเคิลเลข 5 โดยยอมให้มีชั้น EVOH หรือ metallizing ที่ป้องกันก๊าซออกซิเจนได้ดี แต่ต้องไม่เกิน 10% โดยน้ำหนัก

การพัฒนาโครงสร้างฟิล์ม Mono-Material ต้องอาศัยเทคโนโลยีและประสบการณ์ของผู้ผลิตถุง โครงสร้างฟิล์มแตกต่างกันไปตามประเภทผลิตภัณฑ์ น้ำหนักบรรจุ วิธีการบรรจุ และสภาพการลำเลียงขนส่ง ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีฟิล์ม Mono-Material โครงสร้างเดียวที่สามารถใช้ได้กับทุกผลิตภัณฑ์อย่างเหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่น้ำหนักบรรจุต่อถุงมากหรือมีการลำเลียงขนส่งที่รุนแรง สมบัติของฟิล์มพลาสติกที่ต้องการคือ high mechanical property (ค่า tensile strength และ impact resistance สูง) ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการอายุการเก็บนาน สมบัติของฟิล์มที่ต้องการคือ high barrier (ค่า WVTR และ OTR ต่ำ) หากบรรจุผลิตภัณฑ์ด้วยเครื่องบรรจุอัตโนมัติ ฟิล์มที่ใช้ต้องมีค่า stiffness ค่อนข้างสูง และปิดผนึกด้วยความร้อนได้ดี ดังนั้นการพัฒนาให้ได้ฟิล์ม Mono-Material ที่เหมาะสมสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างผู้ใช้ถุงและผู้ผลิตถุง รวมทั้งผู้ผลิตเม็ดพลาสติกฟิล์มเกรดพิเศษ สารเคลือบ และกาวที่ใช้ประกบ

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยที่ใช้ถุงที่ทำด้วยฟิล์ม Mono-Material แล้ว เช่น

แม้ว่าการพัฒนาถุงพลาสติกให้รีไซเคิลได้จะมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก แต่ความสำเร็จในด้านแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมต้องมาจากผู้บริโภคทุกคน และหน่วยงานจัดการขยะของท้องถิ่น กล่าวคือ หลังบริโภคอาหารในถุงหมดแล้ว ต้องแยกทิ้ง ไม่ให้ปนกับเศษอาหาร หากถุงเลอะอาหารก็ต้องล้างก่อน แล้วแยกทิ้ง เพื่อป้องกันแมลงหรือเชื้อโรค หน่วยงานจัดการขยะของท้องถิ่นต้องมีระบบในการรวบรวมถุงเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อผลิตเป็นเม็ดพลาสติกรีไซเคิล (recycled plastic resins เขียนสั้น ๆ ว่า r-plastic) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น เม็ด r-PE ใช้ผลิตเป็นถุงดำ ถังขยะ แผ่นปูพื้น เฟอร์นิเจอร์ r-PP ใช้ผลิตเป็นกล่องแบตเตอรี่ ชิ้นส่วนรถยนต์ กระถางต้นไม้ หรืออาจนำถุงที่ล้างแล้วไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะ ดังตัวอย่างในรูป

การแยกทิ้งถุงอาหารที่แนะนำข้างต้นไม่ใช่พฤติกรรมของชาวไทยส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคตระหนักความสำคัญของการรีไซเคิล และร่วมมือกันปฏิบัติ รวมทั้งมีมาตรการจัดเก็บภาษีการจัดการบรรจุภัณฑ์ทุกชนิดที่ใช้แล้ว โดยใช้หลักการ Expanded Producer Responsibility (EPR) ซึ่งประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและทดลอง คาดว่าจะประกาศเป็นกฎหมายใช้ในปี พ.ศ. 2570

ปัจจุบันปริมาณขยะพลาสติกได้เพิ่มมากขึ้นอย่างมหาศาลทั่วโลก และตกค้างในสิ่งแวดล้อม ก่ออัตรายต่อสุขภาพมนุษย์และชีวิตสัตว์น้ำ สาเหตุที่แท้จริงไม่ได้มาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่มาจากผู้บริโภคขาดวินัยในการแยกทิ้ง และระบบการจัดการขยะของท้องถิ่นไม่มีประสิทธิภาพ บางคนเสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหานี้ว่า “อุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคควรงดใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก และหันไปใช้บรรจุภัณฑ์อื่นแทน เช่น กระดาษ แก้ว โลหะ” แนวคิดนี้ไม่ได้แก้ปัญหาที่ถูกต้องและไม่เหมาะสมในเชิงอุตสาหกรรม เพราะยังไม่มีวัสดุใดที่มาแทนที่พลาสติกซึ่งมีสมบัติเด่นมากมาย (ตามที่กล่าวในส่วนต้นของบทความนี้) เมื่อเร็ว ๆ นี้สหภาพยุโรปได้มีรายงานสรุปผลกระทบถ้าเลิกใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกตามตาราง ดังนั้นผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา สื่อมวลชน และผู้บริโภคทุกคน ต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกให้ถูกต้อง และตรงประเด็น

สรุป: เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหาร ผู้เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องเลือกใช้ถุงให้เป็น เพื่อให้ความปลอดภัย คุ้มครองผลิตภัณฑ์ให้มีอายุการเก็บอย่างเหมาะสม ตลอดจนให้สามารถรีไซเคิลได้ซึ่งเป็นมิตต่อสิ่งแวดล้อม

ที่มา: https://www.thaiprint.org/2023/07/vol142/knowledge142-01/

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save