08 มี.ค. Flexible Packaging แนวโน้มนวัตกรรมบรรจุภัณฑ์แห่งอนาคต
แรงขับเคลื่อนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคเกิดขึ้นด้วยหลายปัจจัย ทั้งจากผู้ผลิตที่ต้องการเพิ่มอายุสินค้าบนชั้นวาง การลดน้ำหนักหีบห่อเพื่อการขนส่งที่สะดวกและประหยัด รวมถึงข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละประเทศ ซึ่งความต้องการเหล่านี้ได้รับการตอบโจทย์ไปทีละขั้นด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทันสมัย และหนึ่งในนั้นก็คือ “Flexible Packaging” หรือ “บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว”
ในประเทศญี่ปุ่น การใช้บรรจุภัณฑ์อ่อนตัวในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคนั้นกำลังเป็นที่นิยมอย่างสูง ซึ่งบรรจุภัณฑ์อ่อนตัวส่วนใหญ่นั้นจะขึ้นรูปจากฟิล์มหลายชนิดจนถุงที่มีความแข็งแรง ทนต่อความร้อน และความดันสูงได้ ทั้งยังสามารถพิมพ์ลวดลายกราฟิกลงบนบรรจุภัณฑ์ และเมื่อผนวกกับจุดเด่นในการลดน้ำหนักบรรจุภัณฑ์ได้ ก็ยิ่งช่วยแก้ปัญหาเรื่องการจ่ายภาษีตามน้ำหนักของบรรจุภัณฑ์ ทั้งยังช่วยลดปริมาณการใช้วัสดุและพลังงานในกระบวนการผลิต ประหยัดค่าขนส่งและพื้นที่ ตลอดจนห่อหุ้มสินค้าไม่ให้แตกหักง่าย
บริษัทชั้นนำด้านบรรจุภัณฑ์ในญี่ปุ่น อาทิ Toppan Printing Co., Ltd. ได้พัฒนาทั้งวัสดุโพลิเมอร์และโครงสร้างฟิล์มอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์คงรูปต่างๆ เช่น กระป๋องอะลูมิเนียม ขวดแก้ว ขวดพลาสติกคงรูป ยกตัวอย่างถุงตั้งได้ที่ขึ้นรูปด้วยการอัดรีดร่วม (Co-Extrude) จากโพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) และโพลีเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LLDPE) มาหลอมเหลวแล้วอัดรีดร่วมกันให้เป็นโครงสร้างวัสดุสามชั้น โดยชั้นกลางเป็น HDPE ประกบผิวทั้งสองด้านด้วย LLDPE จากนั้นจึงนำไปตัดและปิดขอบด้วยความร้อนให้เป็นรูปซองบรรจุภัณฑ์ ซึ่งนำไปรีไซเคิลได้ ทั้งยังทนต่อการเจาะทะลุ ต้านทานการซึมผ่านของความชื้นและไขมัน เพื่อคงรสชาติและกลิ่นของอาหารได้ดี หรือการคิดค้นบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบ Steam Release Packaging เพื่อบรรจุอาหารประเภทที่ต้องอุ่นด้วยไมโครเวฟโดยไม่ต้องเจาะรูเพื่อให้ไอน้ำระบายออกได้ โดยใช้หลักการ Hot Air Release บนซองบรรจุภัณฑ์ โดยไอน้ำและอากาศภายในที่ขยายตัวในซองบรรจุภัณฑ์จะถูกระบายออกทางวาล์วแบบอัตโนมัติเมื่อความดันภายในและภายนอกซองต่างกัน
สิ่งเหล่านี้ล้วนเน้นย้ำการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ให้ความสำคัญเรื่องการใช้งานของผู้บริโภค ควบคู่ไปกับการเลือกใช้นวัตกรรมวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งยังปลอดภัยและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคโดยตรง
เรื่อง: ชมพูนุท วีรกิตติ และ ปิยวรรณ กลิ่นศรีสุข
พบกับวัสดุต้นคิดที่เกี่ยวข้องได้ที่ Material ConneXion® Bangkok, TCDC
ultragreen.jpg
Ultra Green™ TreeSaver™
หมายเลขวัสดุ MC# 7255-01
ผลิตโดย Ultra Green Packaging, Inc.
เยื่อกระดาษสำหรับใช้หล่อขึ้นรูป ผลิตจากฟางข้าวสาลีหรือไม้ไผ่ซึ่งเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ปลูกทดแทนใหม่ได้ และสารเติมแต่งที่ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ อเมริกา พัฒนาขึ้นเพื่อทดแทนการใช้พลาสติก โฟม หรืออะลูมิเนียมสำหรับผลิตวัสดุใช้แล้วทิ้ง มีคุณสมบัติต้านทานน้ำมัน ทนความชื้น หมักเป็นปุ๋ยและย่อยสลายทางชีวภาพได้ สามารถนำเข้าไมโครเวฟหรือเตาอบได้ที่ความร้อนสูงถึง 400°F ฝาปิดทำจากโพลีเอสเตอร์รีไซเคิล (PET) ใช้สัมผัสอาหารเหลวและอาหารมันได้ เหมาะสำหรับทำภาชนะอาหารและบรรจุภัณฑ์
Chameleon.jpg
Chameleon™
หมายเลขวัสดุ MC# 7279-01
ผลิตโดยRollprint Packaging Products, Inc.
ฟิล์มอัดรีดเคลือบผิวที่เกิดการเปลี่ยนสีชัดเจนเมื่อฟิล์มถูกดึงแยกออกจาก กัน กลไกที่ช่วยระบุความเสียหายหรือตรวจสอบการลักลอบเปิดผนึกบรรจุภัณฑ์ เป็นมาตรการเสริมเพื่อป้องกันการปลอมแปลงสินค้า ชั้นฟิล์มประกบนี้ผลิตด้วยการอัดรีดร่วมแล้วเคลือบเพื่อใส่สีระหว่างชั้น ฟิล์มก่อนนำไปผนึกด้วยความร้อน โดยจะเผยสีออกมาให้เห็นเมื่อฟิล์มถูกแยกจากกัน ผลิตได้หน้ากว้างถึง 1.65 เมตร สามารถกำหนดตามต้องการ และปรับให้เหมาะกับอัตลักษณ์และวัตถุประสงค์ในการใช้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ นอกจากนี้ ยังสามารถนำฟิล์มไปพิมพ์ด้วยกระบวนการเฟล็กโซกราฟีเพื่อสร้างลักษณะพิเศษ หรือทำฉลากสินค้า หรือนำไปผ่านการฆ่าเชื้อโรคให้ได้คุณสมบัติตามมาตรฐานห้องปลอดเชื้อ ISO Class 8 เหมาะใช้เป็นฟิล์มผนึกด้วยความร้อน บรรจุภัณฑ์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์และอาหาร
ที่มา
ampaconline.com
toppan.co.jp
และเอกสารประกอบการสัมมนา “Packaging Trend from Tokyo Pack 2014” โดย มยุรี ภาคลำเจียก และวรรณา สุทัศน์ ณ อยุธยา
Sorry, the comment form is closed at this time.