SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action พลังแห่งความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

SD Symposium 10 Years: Collaboration for Action พลังแห่งความร่วมมือเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของความร่วมมือ และเชื่อว่าการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญแห่งการเปลี่ยนแปลง งานสัมมนา SD Symposium จึงดำเนินต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 โดยในปีนี้เอสซีจี ได้ประสานงานกับพันธมิตรกว่า 45 องค์กรจัดงานสัมมนาทางวิชาการภายใต้หัวข้อ “SD Symposium 10 Years: Circular Economy – Collaboration for Action” เพื่อระดมสมองและพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งความร่วมมือนี้จะเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันประเทศไทยและอาเซียน ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้อย่างแท้จริง

 

 

เส้นทางของ 10 ปี

 

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาของการจัดงาน SD Symposium หัวเรื่องสำคัญคือ การพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development ที่เอสซีจียกประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ พร้อมตัวอย่างการแก้ปัญหาที่ประสบความสำเร็จจากทั่วโลก มาร่วมหารือกับหลากหลายภาคส่วน ระดมความคิด หาแนวทางการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในการทำงานเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เกิดการแบ่งปันกลยุทธ์การสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วยความเชี่ยวชาญของแต่ละองค์กร การสร้างนโยบายและแนวทางความร่วมมือ การลงมือปฏิบัติจริง ไปจนถึงการวิเคราะห์ติดตามผลเพื่อสร้างการพัฒนาต่อไปข้างหน้า

 

 

 

 

มองภาพรวม เพื่อความยั่งยืน

 

การสัมมนาในช่วงเช้า บอกเล่าตัวอย่างของการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อผลักดันนโยบายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้เป็นเรื่องระดับนานาชาติ โดยนับตั้งแต่การจัดงาน SD Symposium ในปี 2018 ที่ผ่านมา แนวคิด Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นประเด็นหลักที่ถูกนำมาเป็นแนวคิดตั้งต้นเพื่อไปสู่ความยั่งยืนอย่างเป็นระบบ พร้อมกันกับการที่เอสซีจีเริ่มสร้างความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรกว่า 40 องค์กร ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เห็นเป็นรูปธรรม พร้อมก้าวไปสู่การเป็นแนวทางต้นแบบต่อไป

 

หลัก Circular Economy ซึ่งเน้นย้ำเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหลักการที่ตอบโจทย์เป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามกรอบขององค์การสหประชาชาติประการที่ 12 เรื่อง “การมีส่วนรับผิดชอบในการบริโภค และการผลิต” ได้  โดยปี 2030 เป็นปีที่องค์การสหประชาชาติกำหนดว่าจะได้เห็นการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นในทุกมิติ

 

ในส่วนงานนโยบายของภาครัฐ รัฐบาลไทยได้นิยามทิศทางเศรษฐกิจใหม่นี้ว่า BCG Model (Bio Economy – Circular Economy – Green Economy) หรือการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นพื้นฐาน พร้อมกับการสร้างหลักปฏิบัติที่บูรณาการทุกภาคส่วนตั้งแต่การเปลี่ยนพฤติกรรม การสร้างระบบการศึกษา ส่งเสริมวิธีคิดแบบประสานประโยชน์ (Growth Mindset) การคิดค้นนวัตกรรม และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ

 

“เรามีเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจตามการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปฏิบัติตามศาสตร์พระราชา หรือเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และมีการปฏิวัติวิถีชีวิตและความคิดทางเศรษฐศาสตร์บนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน” – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม

 

 

 

 

ในส่วนขององค์กรและภาคประชาสังคมนั้น ประเด็นสำคัญอยู่ที่การทำความเข้าใจกิจกรรมที่เกิดขึ้นในธุรกิจของตัวเอง ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตไปจนถึงการส่งถึงมือผู้บริโภค โดยผสานหลักคิดเข้ากับกระบวนการในแต่ละขั้นตอนอย่างต่อเนื่อง ทำการวิเคราะห์และสังเคราะห์กลวิธีใหม่ ๆ เพื่อสร้างนวัตกรรมของความยั่งยืน ซึ่งส่งผลประโยชน์ต่อทั้งทรัพยากรโลก มนุษย์ ไปพร้อมกับผลประกอบการทางธุรกิจ

 

“เป้าหมายของอิเกียถือเป็นเป้าหมายในระดับโลกและขับเคลื่อนในทุกกิจกรรม และหนึ่งในเป้าหมายของเราคือ ภายในปี 2030 อิเกียจะต้องผลิตสินค้าที่นำมาจากวัสดุที่นำกลับมาใช้ใหม่” – Mr. Lars Svensson, Sustainability & Communication Director – IKEA Southeast Asia

 

 

 

Accelerating Circular Economy through Collaboration

 

เพราะการก้าวไปคนเดียวอาจไปได้เร็ว แต่ก้าวไปด้วยกันย่อมไปได้ไกลกว่า ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนก็อาศัยหลักการเดียวกันที่ต้องการความร่วมมือของทุกฝ่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน นั่นอาจรวมถึงทำงานข้ามสายงาน (cross function)หรือแม้แต่การทำงานร่วมกับองค์กรคู่แข่ง การสัมมนาในหัวข้อนี้จึงได้ตัวแทนจากองค์กรความร่วมมือระดับโลกในสามวงการใหญ่อย่างวงการวัสดุก่อสร้าง Global Cement and Concrete Association (GCCA) วงการพลาสติก Alliance to End Plastic Waste (AEPW) และ วงการแพคเกจจิ้ง Circular Economy for Flexible Packaging (CEFLEX)

 

 

 

 

การแบ่งปันประสบการณ์ผ่านโครงการที่ทำจริง บังเกิดผลจริง นับเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับการสร้างความตระหนักและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ที่เหมาะกับแต่ละองค์กร บทเรียนสำคัญจากการทำงานในด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนคือการประสานความร่วมมือระดับมหภาคเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายของความยั่งยืนได้อย่างเข้มแข็งขึ้น

 

AEPW ก่อตั้งจากการรวมตัวของกลุ่มบริษัทฯ ที่ผลิต ใช้ ขาย แปรรูป จัดเก็บ และรีไซเคิลพลาสติก ซึ่งรวมถึงบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์และผู้ประกอบการพลาสติกเพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางการการลดปริมาณและจัดการขยะพลาสติก ซึ่งต้องเริ่มต้นมองภาพรวมของห่วงโซ่อุปทาน แล้วนำมาคิดต่อว่าจะสร้างกลวิธีในการป้องกันและแก้ไขตั้งแต่กระบวนการต้นทางได้อย่างไร รวมถึงส่งเสริมวิธีการจัดการหลังการใช้ โดยกลยุทธ์ของ AEPW มีกระบวนการการดำเนินงานอยู่บนรากฐาน 4 ด้านด้วยกัน คือ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรม การส่งเสริมความรู้ความเข้าใจและความมีส่วนร่วม และการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

 

มีอะไรมากมายที่เราสามารถทำได้และเราได้แรงบันดาลใจในการทำงานเรื่องพลาสติกจากปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก แล้วนำมาพิจารณาในกระบวนการทำงานของเรา จึงเป็นสิ่งที่เราต้องวางแผนชัดเจนและมุ่งมั่นที่จะทำ” – Mr. Craig Buchholz, Chief Communications Officer, P&G (สมาชิกของ Alliance to End Plastic Waste – AEPW)

 

Flexible Packaging เป็นทางเลือกของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายด้วยคุณสมบัติที่ตอบสนองความต้องการใช้งานได้เป็นอย่างดี โดยทาง CEFLEX ได้ทำงานร่วมกันกับผู้ผลิตแพคเกจจิ้งทั้งหมดโดยเฉพาะในยุโรป ในการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ดีและนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ ทั้งวัสดุพลาสติก กระดาษ และอะลูมิเนียม โดยมีเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์ให้ได้ 80% ในขณะที่ CEFLEX เองกำลังเติบโตในระดับภูมิภาค การสร้างความร่วมมือในระดับโลกก็เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กัน

 

ราพบว่าเราทำเองลำพังไม่ได้ วันนี้ผู้ประกอบการในยุโรปที่ทำงานกับ CEFLEX ก็พร้อมจะเป็นต้นแบบที่ขยายผลของความสำเร็จไปสู่ทวีปอื่นๆ ด้วย” – Mr. Graham Houlder, Project Co-ordinator, Circular Economy for Flexible Packaging (CEFLEX)

 

การสร้างองค์กรใหม่ซึ่งทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างแต่ละองค์กรก็เป็นอีกแนวทางที่สามารถกำหนดเป้าหมายในการร่วมกันพัฒนาได้อย่างยั่งยืน เช่นเดียวกันกับ GCCA หรือสมาคมซีเมนต์และคอนกรีตโลกที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางในการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนกระบวนการทางธุรกิจให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การสร้างฐานข้อมูล การออกแบบไปจนถึงการทำงานอย่างมีกลยุทธ์ จัดตั้ง Sustainability Guideline หรือมาตรฐานโรงงานยั่งยืนขึ้น และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายได้พร้อมกัน

 

“เพราะเราอาจจะเริ่มจากกลุ่มธุรกิจซีเมนต์ จึงทำให้การทำงานด้วยกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ เพราะเกิดการทำงานร่วมกันทั้งห่วงโซ่อุปทาน ทั้งดีไซน์เนอร์ วิศวกร หรือในสายการผลิต” – Mr. Benjamin Sporton, Chief Executive, Global Cement and Concrete Association (GCCA)

 

 

 

Partnership of Circular Economy

 

ความมุ่งมั่นของแต่ละองค์กรบนเป้าหมายเดียวกันคือ การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่ได้ยั่งยืน เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนขับเคลื่อนได้อย่างมั่นคง หากแต่เพียงหลักการในภาคทฤษฎีเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้ การสร้างพันธมิตรระหว่างองค์กรกับชุมชน และการทำให้เป็นห่วงโซ่อุปทานเป็นการรวมพลังทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาสร้างแรงผลักดันและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง

 

 

 

 

คำถามที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของความร่วมมือจากหลายองค์กรที่มีความแตกต่างกันทั้งในแง่ประเภทธุรกิจ กระบวนการทำงาน และทรัพยากร เพื่อให้เกิดผลภายใต้กรอบของความยั่งยืนเดียวกัน จะทำงานร่วมกันได้ด้วยวิธีใดบ้าง

 

“การเข้ามาทำงานร่วมกันนั้น ต้องเริ่มตั้งแต่ระดับบุคคลและขยายผลสู่ระดับประเทศ สิ่งสำคัญคือเราต้องชัดเจน รู้ว่าเรากำลังมองหาเครือข่ายเพื่อร่วมมือกับคนที่คิดเหมือนเรา และต้องไม่ละเลยการสร้างความร่วมมือระดับทวิภาคีด้วย” – Mr. Denis Nkala, Regional Coordinator and Representative, The United Nations Office for South-South Cooperation (UNOSCC), Asia and the Pacific Office

 

การเริ่มต้นจากการสร้างความร่วมมือคือก้าวแรก ก้าวสำคัญในการนำไปสู่การพูดคุยและระดมสมองเพื่อหาทางออกร่วมกันในเชิงนโยบาย และใช้ความถนัดในทางปฏิบัติที่ต่างกันเพื่อสร้างกลวิธีที่เหมาะสมของแต่ละภาคส่วน ตัวอย่างส่วนกลางของสังคมโลกนั่นคือหน่วยงาน UN Environmental Program ซึ่งเป็นตัวกลางผู้ผลักดันให้เกิดแนวทางนโยบายอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระดับโลก มีบทบาทเป็นผู้สร้างขีดความสามารถและโครงสร้างการทำงานที่เหมาะสมกับแต่ละหน่วยงานระดับองค์กรหรือภูมิภาคที่ทำงานด้วย

 

“ขณะที่อุตสาหกรรมรีไซเคิลมีมูลค่ามากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ ธุรกิจในโลกจึงต้องปรับตัวเพื่อรองรับเรื่องนี้ เราจึงช่วยหาคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงภูมิภาค” – Ms. Kakuko Nagatani-Yoshida, Regional Coordinator for Chemicals, Waste and Air Quality, Asia and Pacific Office, UN Environment

 

ส่วนงานภาครัฐ ประเทศอินโดนีเซียเองก็ตระหนักว่าตนเป็นผู้ผลิตขยะรายใหญ่ของโลก ชาวอินโดนีเซียจึงพยายามลดปัญหาขยะที่ปล่อยลงสู่ทะเล โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้เป็นผู้ประสานงานร่วมกับทั้ง 18 กระทรวง และมีกลไกในการจัดการขยะทั้งหมด 6 ข้อ จนเกิดเป็นโครงการนำร่องมากมายที่ตามมาจากการสร้างความตระหนักและความพยายามเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในประเทศ

 

“ความท้าทายของการสร้างความร่วมมือกันที่วันนี้อินโดนีเซียกำลังเผชิญ คือ ปัญหาพลาสติกของโลกที่ภาคเอกชนอาจต้องเป็นฝ่ายเริ่ม เพราะภาครัฐอาจยังไม่มีงบประมาณ พร้อมกับการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม” – Dr. Safri Burhanuddin, Deputy IV of Coordinating, Ministry for Maritime Affairs of Republic Indonesia

 

 

 

 

ประเทศเวียดนามก็เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นได้จริงในระดับอาเซียน ด้วยการทำงานร่วมกันเป็น Business Council เพื่อแก้ปัญหาที่กำลังเป็นประเด็นเร่งด่วน เพื่อให้ปลายทางคือการพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนซึ่งให้ประโยชน์แก่ทุกคนเกิดขึ้นได้จริง

 

“ความท้าทายในการทำงานร่วมกันนั้นอาจมีความยากในการพูดคุยกับคนที่อยู่นอกธุรกิจแต่ทุกคนควรต้องมาทำงานร่วมกัน” – Mr. Pham Hoang Hai, Partnership Development Head – Vietnam Business Council for Sustainable Development

 

ตัวอย่างการร่วมมือระหว่าง Bill & Melinda Gates Foundation สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และเอสซีจีในการสร้าง ZyclonicTM ห้องน้ำพร้อมระบบบำบัดครบวงจรเพื่อสุขลักษณะที่ดีของผู้ใช้งาน ด้วยการร่วมกันวิจัยพัฒนาตั้งแต่เรื่องวัสดุ คุณสมบัติการใช้งาน ไปจนถึงเทคโนโลยีในการกำจัดของเสีย โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การลดความเสี่ยงด้านปัญหาสุขภาพ ด้วยการทำให้คนเข้าถึงห้องน้ำที่มีคุณภาพ ไม่เป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค

 

“ผมให้ความสำคัญกับการสื่อสาร เพราะการสร้างความร่วมมือระหว่างกันนั้น จะต้องสื่อสารตลอดเวลาให้ชัดเจนว่าเราจะทำอะไร ต่างคนก็ต่างอุทิศตัวเข้ามาสู่โครงการในส่วนที่ตนเองถนัด นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยการให้การร่วมมือเกิดขึ้นได้” – Mr. Doulaye Kone, Deputy Director, Bill & Melinda Gates Foundation

 

เช่นเดียวกันกับ Starboard แบรนด์ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับกีฬาทางน้ำ ที่ได้ร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยนวัตกรรมพัฒนาวัสดุรีไซเคิลอย่างแหจับปลามาใช้ในการผลิตสินค้าซึ่งได้คุณสมบัติที่ดีเยี่ยม หรือร่วมกับ Trash Hero อาสาเก็บขยะในทะเล และสร้างการรับรู้โดยแบรนด์จะระบุในฉลากสินค้าว่าสินค้าชิ้นนี้ผลิตจากวัสดุพลาสติกรีไซเคิลชนิดใดเท่าไร วัสดุชนิดนี้ช่วยกำจัดขยะทะเลไปได้เท่าไร และแบรนด์ได้ร่วมกับอาสาสมัครเก็บขยะทะเลไปเท่าไหร่

 

“สร้างความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการค้าของตัวเอง ไปพร้อมๆ กับการเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการการทำธุรกิจ เพื่อให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่เพิ่มมากขึ้น” – Mr. Svein Rasmussen, CEO, Starboard

 

 

 

Strategic Proposal: Thailand Waste Management Way Forward

 

จากการระดมความคิดของตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมหารือเรื่องมาตรการจัดการขยะในประเทศไทย “Thailand Waste Management Way Forward” ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล รองประธานกรรมการ เอสซีจี ได้กล่าวสรุปข้อเสนอแนะต่อ นายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์ โอชา ในก้าวต่อไปของการผลักดัน 4 มาตรการ ได้แก่

 

1 การยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ

2 การผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน

3 รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล

4 การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง

 

 

 

 

ซึ่งนายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า “การขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายใต้การดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนจะทำให้ประเทศมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยพึ่งพาทรัพยากรน้อยลง เพื่อชีวิตและสังคมที่ดีของทุกคน โดยไม่ทิ้งภาระไว้ให้ลูกหลาน และในฐานะผู้นำภาครัฐจะนำสิ่งที่ทุกภาคส่วนได้ระดมความคิดในวันนี้ไปส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้ได้ต่อไป”

 

ความยั่งยืนของโลกใบนี้ขึ้นอยู่กับเราทุกคนบนโลก การปฎิบัติตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือของทุกฝ่าย ฉะนั้นแล้วเราทุกคนก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแนวคิดนี้ได้ อาจเริ่มต้นจากการติดตามข้อมูลข่าวสาร ทำความเข้าใจกับปัญหาและแนวทางการแก้ไข และเริ่มนำวิธีการเหล่านั้นมาปฎิบัติในชีวิตประจำวันและขยายผลสู่หน่วยที่ใหญ่ขึ้นไปอย่างหน่วยงาน องค์กร หรือชุมชน หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันแล้วนั้นย่อมเป็นพลังที่พลิกให้โลกของเรากลับมาน่าอยู่และเป็นอนาคตที่สดใสที่เราจะส่งต่อให้กับคนรุ่นถัดไปได้อย่างภาคภูมิใจ

 

ที่มา http://www.allaroundplastics.com/article/sustainability/2629

No Comments

Sorry, the comment form is closed at this time.

This website uses cookies to improve user experience. By using our website you consent to all cookies in accordance with our privacy policy. เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Performance

    Performance cookies are used to see how visitors use the website, eg. analytics cookies. Those cookies cannot be used to directly identify a certain visitor.

Save