01 Mar ส่องนวัตกรรมอาหาร 10 เทรนด์แรง! ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่
1. “ความแปลกใหม่” เอาใจผู้บริโภคชอบผจญภัย
การเปลี่ยนแปลงของโลก หรือ “โลกาภิวัฒน์” กระตุ้นให้ผู้คนออกไปแสวงหาอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ๆ ส่งผลให้แบรนด์ต่างๆ พยายามเพิ่มลูกเล่น ไม่ว่าจะเป็นการใช้ กลิ่น รสชาติ สี หรือ เนื้อสัมผัสของอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ในการสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าที่ชื่นชอบความแปลกใหม่ เช่น Kit Kat ได้เปิดตัวช็อกโกแลตรสชาติใหม่อย่าง Ruby Chocolate หรือช็อกโกแลตทับทิม ที่มาในสีชมพูสดใส และมีรสชาติออกเปรี้ยวนิดๆ เหมือนผสมเบอร์รี่ ถือเป็นนวัตกรรมสำคัญและวิวัฒนาการของวงการช็อกโกแลต จากเดิมที่มีเพียงแค่ดาร์กช็อกโกแลต มิลค์ช็อกโกแลต และไวท์ช็อกโกแลต
2. อาณาจักรแห่ง “พืช”
กระแสรักสุขภาพของผู้บริโภค บวกกับการคำนึงถึงเรื่องของความยั่งยืนและสวัสดิภาพของสัตว์ ส่งผลให้อาหารที่มีส่วนประกอบหรือทำจากพืชยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่อง คนจำนวนไม่น้อยหันมาเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น ในขณะที่แบรนด์เองก็หันมาใช้พืชเป็นส่วนประกอบในอาหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นการใช้เพื่อทดแทนเนื้อสัตว์ทั้งหมด หรือเป็นการผสมผสานกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น Carrefour ได้นำเสนอ Le Palet Boeuf Et Vegetal ซึ่งเป็นการผสมผสานของเบอร์เกอร์ที่มีส่วนประกอบจากพืชและเนื้อวัว
3. “อาหารทางเลือก” มาแรง
ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้นของการบริโภคอาหารที่ทำมาจากพืชและอาหารมังสวิรัติ จำนวนของชาววีแกน ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความต้องการทางเลือกด้านอาหารที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางเลือก อย่างเช่น เนื้อ นม โปรตีน สารให้ความหวาน และแม้กระทั่งปลา โดยกระแสโปรตีนทางเลือกจากพืชกำลังเป็นที่นิยมเพิ่มขึ้น และมีหลายแบรนด์ทำผลิตภัณฑ์ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในจุดนี้ เช่น Likemeat ที่ทำไส้กรอกแฮมจากโปรตีนถั่ว หรือ Jimini’s ที่ทำธัญพืชอัดแท่งที่มีโปรตีนจากจิ้งหรีด เป็นต้น
4. “รักษ์โลก” แรงหนุนด้านความยั่งยืน
จากผลการสำรวจของ Innova Market Insights บอกไว้ว่า ผู้บริโภค 2 ใน 3 ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน กล่าวว่า บริษัทอาหารต่างๆ ควรมีการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ซึ่งอาจจะเป็นด้านของการพัฒนา ตรวจสอบกระบวนการต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือความรับผิดชอบในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงการใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่า แบรนด์หรือบริษัทนั้นๆ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร
5. “ขนมขบเคี้ยว” ไม่ใช่แค่ของกินเล่น
ของกินเล่น หรือ ขนมขบเคี้ยว จะไม่ใช่แค่อาหารที่ทานเล่นอีกต่อไป เมื่อ 63% ของชาวมิลเลนเนียม (Millennials) เลือกบริโภคขนมแทนอาหารมื้อหลัก เนื่องจากไม่มีเวลาว่าง ซึ่งด้วยวิถีชีวิตแบบนี้ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างอาหารมื้อหลักและของทานเล่นเริ่มจะถูกผสานเข้าด้วยกัน โดยขนมเพื่อสุขภาพมีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ขนมที่ทำจากผักหรือเห็ด เป็นต้น
6. จับตา “อาหารส่วนบุคคล”
ความต้องการและความชอบส่วนบุคคล มีอิทธิพลอย่างมากต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเห็นได้ว่า อาหารสามารถปรับให้เข้ากับความชอบเฉพาะบุคคล หรือ Personalised ได้ เช่น EatLove แพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคลและบริการวางแผนอาหาร ได้จับมือร่วมกับ AmazonFresh เพื่อส่งมอบอาหารส่วนบุคคล โดยเป็นบริการที่จะทำการวิเคราะห์สูตรอาหารที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของผู้ใช้ พร้อมบอกรายการของที่ต้องใช้ในการทำอาหารในมื้อนั้นๆ ซึ่งสามารถสั่งซื้อวัตถุดิบต่างๆ ได้ผ่านทาง AmazonFresh และรอรับที่หน้าบ้านได้เลย
7. การกลับมาของ “ไฟเบอร์”
ไฟเบอร์ หรือ เส้นใยอาหาร กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้งในวงการอาหาร โดยผลการศึกษาของ Innova Market Insights บอกว่า 44% ของคนในอเมริกา และ 33% ของคนในสหราชอาณาจักรที่ตอบแบบสอบถามนั้น มีการบริโภคไฟเบอร์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่อ้างถึงการใช้ไฟเบอร์เป็นส่วนผสมเติบโตขึ้นถึง 21% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งจะเห็นการใช้ไฟเบอร์ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เป็นส่วนผสมของโภชนาการด้านกีฬา เช่น สปอร์ตบาร์ต่างๆ (Sports Bars) เป็นต้น
8. ทานแล้ว “รู้สึกดี”
ผู้บริโภคกำลังเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับสุขภาพ โดยไม่ได้มุ่งแค่เรื่องของโภชนาการอีกต่อไป เพราะพวกเขาต้องการทานอาหารที่จะทำให้รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย อารมณ์ หรือ จิตใจ โดยมีอาหารและเครื่องดื่มที่เปิดตัวโดยชูเรื่องทานแล้วรู้สึกดีให้เห็นมากขึ้น เช่น Oreo Joy Fills โอรีโอโฉมใหม่ที่ไม่ได้มาในแบบคุกกี้กลมๆ เหมือนเดิม ถึงรูปทรงจะเปลี่ยนไปแต่ความอร่อยยังถูกใจสาวกเช่นเดิม นอกจากนี้ 1 ใน 4 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และจีน ยังกล่าวว่า “ความผ่อนคลาย” คือ สิ่งสำคัญในการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มอีกด้วย
9. คนเลือกซื้อของจาก “แบรนด์เล็ก”
บริษัทสตาร์ทอัพยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องในการเข้ามาเขย่าวงการอาหารและเครื่องดื่ม โดย 2 ใน 5 ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ชอบซื้อสินค้าจากผู้ผลิตแบรนด์เล็กๆ เนื่องจากมองว่า พวกเขามีความใส่ใจในเรื่องตัวผลิตภัณฑ์มากกว่า และมีเรื่องราวในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ และเพื่อเป็นการแก้เกม แบรนด์ใหญ่จึงเริ่มหันมาจับมือร่วมทำงานกับสตาร์ทอัพมากขึ้น อย่าง Beyond Meat ฟู้ดเทคสตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกัน ผู้ผลิตเนื้อกระป๋องทดแทนจากพืช ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากผู้เล่นรายใหญ่ เช่น Tyson Foods, Humane Society, General Mills และนักแสดงอย่าง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ
10. “โซเชียลส่งเสียง” ร่วมสร้างสูตรอาหาร
โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลเป็นอย่างมากกับเทรนด์นี้ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคสามารถแชร์ว่า พวกเขาทานอะไรกันได้แล้ว ยังเป็นแพลตฟอร์มในการสื่อสารไปยังแบรนด์หรือบริษัท ไปจนถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอาหาร โดยผู้บริโภคชาวจีน (55%) อเมริกัน (43%) และอังกฤษ (24%) ที่มีอายุ 26 – 35 ปี กล่าวว่า พวกเขาถ่ายรูปอาหาร แล้วโพสต์บนออนไลน์อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง และด้วยเทรนด์นี้ ทาง โอรีโอ จึงสร้างแฮชแท็ก #myoreocreation ที่ให้แฟนๆ เลือกได้ว่า อยากได้รสชาติใหม่รสไหน ซึ่งรสเชอร์รี่โคล่า เป็นผู้ชนะไปและได้ผลิตออกสู่ตลาดจริง
“นวัตกรรม” ทางออก SME สร้างความต่าง ตอบโจทย์ลูกค้ายุคใหม่
ในขณะที่แบรนด์โลกเดินไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้ประกอบการอาหารบ้านเราก็ไม่น้อยหน้า ต่างพากันนำเอานวัตกรรมมาประยุตก์ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาท้าสายตาของผู้บริโภคและนักชิม ยกตัวอย่าง ดร. ภูมิยศ พยัคฆวรรณ เจ้าของผลิตภัณฑ์ไก่แผ่นอบกรอบ Sexy Chick ที่นำเนื้ออกไก่มาพัฒนาเป็นขนมขบเคี้ยว ซึ่งผ่านกระบวนการขึ้นรูปใหม่และอบแห้ง ให้ทั้งโปรตีนสูงและพลังงานแก่ร่างกาย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการบริโภคขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ
“เรามุ่งเจาะไปที่ตลาดนักกีฬา คนออกกำลังกาย คนเล่นกล้ามที่ต้องอาศัยการทานโปรตีน รวมถึงคนรักสุขภาพที่ไม่อยากทานพวกไขมันและแป้ง โดยทำการเปลี่ยนการบริโภคเนื้ออกไก่ในรูปแบบเดิมๆ มาเป็นขนมทานเล่นที่มีโปรตีนสูง เพื่อทำให้เกิดความแปลกใหม่ และไม่จำเจ โดยเฉพาะกับนักกีฬาหรือคนที่ออกกำลังกายที่ต้องทานอกไก่อยู่เป็นประจำ แน่นอนว่า “นวัตกรรม” เป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาสินค้าออกมาสักชิ้น ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนว่า จะนำมาใช้อย่างไร ซึ่งการจะมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และเข้าไปอุดช่องว่างในตลาดได้ ก็ต้องอาศัยการใช้นวัตกรรม ที่จะมาช่วยทั้งในแง่ของการลดต้นทุน และเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น”
ในขณะที่ตลาด Ready to Cook หรือ อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุงนั้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง คุณอภัสนันท์ พงศ์ธนะนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท Top THAI LED CO WORKER CO., LTD จึงไม่รอช้าที่จะนำนวัตกรรมการทำแห้งด้วยการแช่เยือกแข็ง (Freeze dehydration หรือ Lyophilisation) มาพัฒนาจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์น้ำแกงส้มทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง ภายใต้แบรนด์ AP Thailand
“ฟรีซดราย เป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งซึ่งกำลังเป็นที่นิยมและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของต่างชาติ ช่วยรักษาคุณภาพ โดยคงสภาพความสดใหม่ของอาหารได้เป็นอย่างดี และเก็บได้นานถึง 1 ปี อีกทั้งยังตอบรับกับกระแส Ready to Cook ทั้งในแง่ของผู้บริโภครายเล็กและร้านอาหารในต่างประเทศที่ต้องการหาสมุนไพรและวัตถุดิบแบบไทยๆ ได้ง่ายขึ้น”
นอกจากนี้ เมื่อสังคมผู้สูงวัยมีการเติบโตมากขึ้น ขณะที่ผู้มีปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืนยังถูกมองข้าม จึงจุดประกายให้ คุณชวลิต ธนสหวรคุณ ผู้อำนวยการ บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ลุกขึ้นมาพัฒนาเยลลี่สูตรใหม่ ที่มีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น รับประทานง่าย รสชาติอร่อย และพกพาสะดวก เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคกลุ่มนี้
“เดิมทีเรามีผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วย เป็นแบบผงชงแล้วดื่มอยู่แล้ว ทำให้เรามีวัตถุดิบอยู่ในมือ จึงมีความคิดที่จะต่อยอดและนำไปพัฒนาเป็นอาหารประเภทอื่น จนมาตกผลึกที่การเป็นเยลลี่สำหรับผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร ซึ่งในเมืองไทยยังไม่มี โดยร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ใช้เวลาพัฒนาประมาณ 1 ปี ทดลองกันอยู่หลายสิบครั้งจึงสำเร็จออกมา โดยเป็นเยลลี่ที่กลืนง่าย มีความลื่นหรือหนืดที่เหมาะสม และมีการเพิ่มคุณค่าทางอาหารเข้าไปด้วย เช่น สารสกัดจากใบแปะก๊วย โอเมก้า 3 (อีพีเอ/ EPA) โปรตีน ใยอาหาร แคลเซียม และวิตามินแร่ธาตุสูง อีกทั้งยังปราศจากกลูเตน น้ำตาล และน้ำตาลแลคโตส”
นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวยังตอบโจทย์กลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านการเคี้ยวและการกลืนอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งในช่องปากและช่องคอ ผู้มีความบกพร่องของหลอดอาหาร รวมถึง ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งระบบประสาทสั่งงานด้านการเคี้ยวและกลืนไม่สัมพันธ์กัน
“การกลืนอาหารหรือน้ำไม่ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะสามารถส่งผลกระทบได้ทั้งทางร่ายกายและจิตใจ ซึ่งนอกจากจะต้องเจอกับปัญหาการขาดน้ำและสารอาหารแล้ว ยังทำให้มีปัญหาเรื่องการเข้าสังคมด้วย โดยผลิตภัณฑ์นี้จะเข้ามาทำให้ทั้งสุขภาพและชีวิตทางสังคมของคนเหล่านี้ดีขึ้นได้”
เห็นแล้วใช่ไหมว่า หากต้องการจะทำธุรกิจอาหารยุคใหม่ให้แตกต่างและตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ ต้องไม่มองข้าม “นวัตกรรม” อย่างเด็ดขาด
ที่มา:
https://www.supermarketperimeter.com/articles/3393-top-trends-driving-the-global-food-industry
https://www.statista.com/outlook/253/100/food-beverages/worldwide
https://retailreport.at/sites/default/files/2019-06/Innova%20Market%20Trends.pdf
https://brandinside.asia/kitkat-ruby-chocolate-bar-in-uk/
https://www.prnewswire.com/news-releases/eatlove-announces-collaboration-with-amazonfresh-300558465.html
https://www.smeone.info/innovation-detail/6939
Sorry, the comment form is closed at this time.