02 พ.ย. นี่คือทางรอด ! CIRCULAR ECONOMY วิถีชีวิตและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทรัพยากรของโลกเรานั้นร่อยหรอขึ้นทุกวัน ในทุก ๆ หนึ่งวินาทีเรากำลังสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญไป โดยที่แทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันคุ้มค่าเท่าที่มันควรจะเป็น
ในขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ของโลกใบนี้ยังคงขับเคลื่อนธุรกิจต่าง ๆ บนฐานคิดของระบบเศรษฐกิจเป็นแบบเส้นตรง (Linear Economy) ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องผลกำไรเป็นอันดับแรก นั่นทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมหาศาล ผลลัพธ์โดยตรงจากลัทธิบริโภคนิยมดังกล่าวทำให้เกิดของเหลือทิ้งและของเสียปริมาณมหาศาลที่ตกค้างอยู่ในระบบนิเวศ หากเราลองกลับไปมองพฤติกรรมดังกล่าวอย่างตั้งใจ ก็น่าชวนให้เราตั้งคำถามขึ้นในใจว่า “หรือพวกเราไม่เคยใส่ใจเลยด้วยซ้ำว่าทรัพยากรของโลกใบนี้ก็มีวันหมด และมันจะหมดไปจากโลกเมื่อไร ถ้าเรายังถลุงใช้มันกันอย่างไร้สติแบบนี้”
แต่ในกระแสอันถาโถมของการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง ก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ได้ตระหนักถึงปัญหาเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร หันกลับมาทบทวนโมเดลเศรษฐกิจปัจจุบัน และพยายามปรับเปลี่ยนตัวเองไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ที่เปรียบได้กับทางรอดของทั้งเราและทั้งโลก นั่นก็คือ ‘Circular Economy’ หรือ ‘เศรษฐกิจหมุนเวียน’
แล้วอะไรคือ Circular Economy
ถ้าแปลอย่างตรงตัวและให้เข้าใจง่าย ก็คือระบบเศรษฐกิจที่ต้องการให้เราใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าที่สุดในทุกกระบวนการ แทบทุกขั้นตอนไม่ควรมีอัตราการเกิดของเสีย หรือมีได้แต่ควรน้อยที่สุด เพื่อให้ทั้งกระบวนการเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
Circular Economy ให้ความสำคัญเรื่องการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ แทนที่วิถีปฎิบัติรูปแบบเดิมที่เป็นการ “ผลิต-ใช้-ทิ้ง” ซึ่งเป็นรูปแบบเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นกำไรมากกว่าความยั่งยืน พูดมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะเข้าใจเศรษฐกิจหมุนเวียน ก็คือ “การรีไซเคิล” แบบที่เรารู้จักกันอยู่แล้วหรือเปล่า ? บทความนี้บอกได้เลยว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดย่อยเท่านั้น เพราะเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบและการบริการที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบเชิงลบให้มากที่สุดด้วย
เศรษฐกิจโลกตกต่ำ นำมาซึ่งแนวคิดใหม่
แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เกิดขึ้นราวๆ ทศวรรษ 1970 ซึ่งในช่วงนั้นหลายประเทศเริ่มตระหนักแล้วว่า ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศของตนเอง รวมถึงทรัพยากรที่ต้องนำเข้ามานั้นมีจำกัด เห็นได้ชัดจากราคาวัตถุดิบที่ขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงกับกำไรสุทธิที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy)
และเมื่อภาครัฐและภาคเอกชนของประเทศเหล่านี้ลองนำแนวคิดเรื่อง Circular Economy มาใช้ พวกเขาก็พบว่า นอกจากจะทำให้ทรัพยากรของพวกเขาถูกนำมาใช้อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนแล้ว โมเดลดังกล่าวยังสร้างความรับผิดชอบต่อโลก แถมยังก่อเกิดผลกำไรที่เติบโตขึ้นในระยะยาวอีกด้วย
แนวคิด Circular Economy มีอะไรบ้าง และดีอย่างไร
ว่ากันอย่างง่าย ๆ Circular Economy ประกอบด้วย 8 หลักการที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางของกระบวนการผลิตไปจนถึงปลายทาง ได้แก่
- Durability (ทนทาน ใช้งานได้นานขึ้น) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น โดยการเพิ่มความคงทน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดใช้ทรัพยากร หรือลดของเสียจากซากเหลือทิ้ง
- Renewability (นำวัสดุที่สร้างทดแทนใหม่ได้มาใช้ในการผลิต) การผลิตหรือการออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ โดยการนำวัสดุที่ประกอบด้วยชีวมวลที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือที่สามารถสร้างทดแทนได้อย่างต่อเนื่องมาใช้ในการผลิต
- Reuse (ใช้ซ้ำได้หลายครั้งตลอดอายุการใช้งาน) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อสามารถใช้ซ้ำได้หลายครั้งตลอดอายุการใช้งานของผลิตภัณฑ์
- Repair (บำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ตลอดอายุการใช้งาน) คุณลักษณะของการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อสามารถทำการบำรุงรักษาหรือซ่อมแซมได้ เมื่อเกิดความเสียหายเพื่อยืดอายุการใช้งาน
- Replacement (เปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนหรือทดแทนการใช้วัสดุแบบเดิม ที่อาจใช้ได้ครั้งเดียวหรือมีสารอันตราย หรือเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในภาวะวิกฤตด้วยการใช้วัสดุทางเลือกหรือการใช้วัสดุทางเลือกหรือการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิต
- Upgrade (เพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน) การเพิ่มประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์หรืออุปกรณ์บางชิ้นของผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งาน โดยไม่ต้องซื้อหรือผลิตภัณฑ์รุ่นใหม่
- Refurbishment (การปรับปรุงเป็นของใหม่) การซ่อมแซมหรือปรับปรุงสินค้าที่ได้รับความเสียหายหรือเกิดตำหนิ โดยส่งคืนกลับไปยังผู้ผลิต พร้อมรับการตรวจสอบตามมาตรฐานของโรงงานอีกครั้งหนึ่ง แล้วกลับมาวางจำหน่ายอีกครั้ง โดยบ่งบอกข้อความกำกับไว้เพื่อแจ้งให้ผู้ซื้อทราบ
- Reduced Material Use (ลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบ) การผลิตหรือออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อลดปริมาณวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต การจัดจำหน่าย การกระจายสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ตลอดจนส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องบริการ
ข้อดีที่สุดของระบบเศรษฐกิจแบบนี้ก็คือ การทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลง เพราะแหล่งที่มาและการได้มาซึ่งวัตถุดิบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามมาด้วยการสร้างมลภาวะน้อยลง โดยเฉพาะประเด็นสำคัญที่สุดอย่างการปล่อยคาร์บอน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่น้อยลง ถือเป็นการสร้าง Carbon Footprint ที่น้อยลงจากระบบเศรฐกิจเดิมที่แทบจะทำลายโลกเรามาก
นอกจากนี้ยังลดปัญหาการขาดแคลนสินค้า อย่างที่บอกว่านี่คือการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เมื่อโลกเผชิญกับปัญหาทรัพยากรหมด การหมุนเวียนในระบบให้สามารถใช้ทรัพยากรให้ได้คุ้มประสิทธิภาพของมันที่สุดจึงเป็นเรื่องจำเป็น
และที่ดูจะขัดแย้งกับเศรษฐกิจแบบเดิมมากที่สุดก็คือ เศรฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สามารถสร้างงานสร้างรายได้ได้มากกว่าอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ หลายประเทศที่ร่ำรวยขึ้นไม่ใช่เพราะพวกเขาค้ากำไรได้มากขึ้น แต่เป็นเพราะพวกเขารู้จักและเข้าใจการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรต่างหาก
Circular Economy เริ่มด้วยกัน เริ่มได้เลย
ปัจจุบันหลายบริษัทภาคเอกชน และภาครัฐอย่างกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป เริ่มหันมาจริงจังกับการใช้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพราะนี่คือทางรอดที่ยั่งยืนของประเทศและของโลกที่แท้จริง
สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คุณต้องรู้ก่อนว่า เราอยู่ตรงไหนในกระบวนการ Circular Economy จากนั้นก็เริ่มที่การเปลี่ยนแปลงสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่เสียเลย อาทิ การปรับปรุงเชิงประสิทธิภาพในการผลิต การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การออกแบบที่ชาญฉลาด การเลือกใช้วัสดุทางเลือก
อีกอย่างที่เราเชื่อว่าหลายคนน่านึกไม่ถึงว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ Circular Economy ด้วยเหมือนกัน นั่นก็คือ ระบบการให้บริการแทนการจำหน่ายสินค้า ตัวอย่างเช่น การให้บริการซักรีด แทนการขายเครื่องซักผ้า รวมถึงระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เช่น Airbnb หรือ Uber เป็นต้น
ตัวอย่างที่ดีของประเทศ Circular Economy
เราขอชี้ชวนมามองภาพใหญ่ในระดับประเทศกันก่อน อินเดีย ถือเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด แต่ก็ทำให้พวกเขาใช้ทรัพยากรไปมากกว่าเดิม 8 เท่า พ่วงด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 13 เท่า
แต่เมื่ออินเดียหันมาใช้ Circular Economy โดยเน้นไปที่เมืองและการก่อสร้าง อาหารและภาคเกษตร และระบบขนส่งและยานยนต์ ผลที่ได้เกินคาดก็คือการที่อินเดียจะมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อปีถึง 6.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2050 นี้
มาทางฝั่งยุโรปกันบ้าง ที่ทั้งเนเธอแลนด์ ฝรั่งเศส และอิตาลี ก็นำเอา Circular Economy มาขับเคลื่อนประเทศในเชิงนโยบาย และออกมาเป็นการบังคับใช้ที่ไม่มีฝ่ายใดเสียผลประโยชน์เลย ซึ่งนี่เป็นการขับเคลื่อนไม่ใช่แค่แต่ละประเทศเท่านั้น แต่มันคือข้อตกลงร่วมกันของทั้งสหภาพยุโรปเลยทีเดียว
Circular Economy กับภาคเอกชน
ไม่ใช่แค่ภาครัฐตัวใหญ่ที่จะต้องใส่ใจกับ Circular Economy แต่ตัวเล็กอย่างภาคเอกชนก็มีพลังมหาศาลมากพอที่จะขับเคลื่อนได้เช่นกัน เรามีตัวอย่างขององค์กรต่าง ๆ ที่กำลังเคลื่อนโลกไปสู่ความยั่งยืนมาให้คุณได้อ่านกัน เผื่อนำไปประยุกต์เข้ากับองค์กรของคุณดู
Balbo Group – หวานนำธรรมชาติ
กลุ่มบริษัท Balbo ผู้ผลิตน้ำตาลทรายแท้ออร์แกนิก ประสบปัญหาการควบคุมการผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำตาลอย่าง อ้อย ที่มีต้นทุนสูงมาก แถมเกษตรกรก็ใช้ยาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชที่มีราคาสูงเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งระบบ โดยเฉพาะสภาพทางชีวภาพของพื้นที่ปลูก และหน้าดินที่ถูกทำลายด้วยสารเคมี พวกเขาจึงหันมาทำเกษตรกรรมแบบ Regenerative Agriculture ที่กลับไปสู่ต้นกำเนิดของธรรมชาติ อีกทั้งยังผลิตพลังงานที่ใช้ในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายเอง 100% ผลที่ได้กลับมาคือ คุณภาพของดินที่ดีขึ้นและกลับมาอุดมสมบูรณ์ไปด้วยแร่ธาตุอีกครั้ง มากกว่านั้นคือปริมาณการผลิตที่ทำให้ Balbo Group ครองตลาดน้ำตาลทรายแท้ออร์แกนิกที่ 34% ของทั้งโลกอีกด้วย
Hiut Denim – ยีนส์ยั่งยืน
เป็นธรรมดาที่คนใส่ยีนส์ทั้งหลายเลือกที่จะไม่ซักและปล่อยให้ยีนต์ตัวเก่งของคุณโทรมไปตามกาลเวลา จนกว่าจะใช้งานไม่ได้ถึงค่อยทิ้งมันไปอย่างไม่ใยดี แต่ Hiut Denim เลือกวิธีการที่ยั่งยืนกว่านั้น คือการทำยีนส์แบบ custom made ที่ออกแบบและตัดเย็บโดยช่างผู้เชี่ยวชาญ ตามมาด้วยการบริการที่เน้นความใส่ตั้งแต่ระหว่างขาย ยาวไปจนถึงหลังการขาย ซึ่ง Huit การันตีด้วยการให้สิทธิ์คุณส่งยีนส์มาซ่อมฟรีเมื่อไหร่ก็ได้ เพื่อให้ยีนส์นั้นอยู่กับคุณได้ยาวนานตลอดไป ไม่มีทิ้งเสียแน่นอน
Gerrard Street – ได้หูฟังอันใหม่ในทุกวัน
เมื่อพูดถึง Gadget สิ่งที่ไม่ยั่งยืนเลยก็คือ เมื่อคุณใช้งานมันไม่ทันไร ก็มีอันให้ต้องเปลี่ยนมาใช้รุ่นใหม่ ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนั่นก็หมายความว่ารุ่นเก่าจะถูกทิ้งกลายเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย แต่ Gerrard Street สตาร์ทอัพจากเนเธอร์แลนด์ ก็ทำให้หูฟัง ที่คนเปลี่ยนกันง่ายเหลือเกิน กลายเป็นของอยู่ยาว ด้วยรูปแบบการผลิตแบบ modular หรือถอดประกอบได้ พร้อมด้วยฟังก์ชั่น no glue ที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขา 85% สามารถอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่เพียงแค่เติมอะไหล์อื่นๆ เข้าไปเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลก็มากับคุณภาพเสียงระดับท็อป สายฟังเพลงทั้งรักและรักษ์โลกไปพร้อม ๆ กัน เก๋จริง ๆ
Philips – บริการแสงแด่คุณ
กว่าจะได้มาซึ่งแสงนั้นต้องผ่านกระบวนการมากมาย ไหนจะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเข้ามาอีก แต่ฟิลิปส์ ยักษ์ใหญ่แห่งแสงไฟพาคุณเข้าสู่ Circular Economy ด้วยบริการแสงเสียเลย เพราะฟิลิปส์ขึ้นชื่อเรื่องความครบวงจรอยู่แล้ว จึงเปิดโอกาสให้คุณได้ ‘ซื้อแสง’ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหลอดไฟ เพราะฟิลิปส์ให้บริการหลอดไฟพร้อมกับแพ็คเกจภาคต่อ ให้คุณเลือกได้ว่า จะใช้ไฟต่อ จะปรับรูปแบบแสง หรือจะอัพเกรดแหล่งที่มาของแสง ซึ่งนี่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถประหยัดค่าซ่อมแซมไปได้มากถึง 60% (เพราะภาระไม่ได้ตกอยู่ที่ผู้ใช้แสงอีกต่อไป) โมเดลนี้ถูกใช้ในสถานที่สาธารณะหลายแห่ง อาทิ ท่าอากาศยาน Schiphol ที่กรุงอัมสเตอร์ดัม และ National Union of Students ที่อังกฤษ
SCG – จับมือกับภาครัฐพาคุณสู่ความยั่งยืน
ในไทยเราใช่ว่าจะไม่มีองค์กรไหนที่ตระหนักเรื่อง Circular Economy ตัวอย่างที่น่าสนใจก็เช่น SCG ซึ่งเป็นภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ทาง SCG เองก็ได้คิดค้นนวัตกรรมที่ลดการใช้วัสดุตั้งต้น แต่ยังมีคุณสมบัติและการใช้งานที่ได้มาตรฐานและดียิ่งขึ้น รวมถึงพัฒนาไลน์สินค้าใหม่ ๆ ที่สามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้ นอกจากนี้บริษัทยังได้ลงนามความร่วมมือกับภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ในการจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายลดขยะพลาสติกให้ได้ 50% ในช่วงเวลา 10 ปี ที่เห็นชัดที่สุด คือการจับมือกับภาครัฐ อย่างกรุงเทพมหานคร ร่วมกันสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อมกับประชาชน
อ่านกันมาจบถึงย่อน้าสุดท้ายนี้ เราขอถอดสิ่งที่เราเล่าให้ฟังทั้งหมดออกมาเป็นคีย์เวิร์ดจำง่าย ประยุกต์ได้กับทุกรูปแบบการใช้ชีวิต นั่นก็คือ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพียงเท่านี้ คุณก็เป็นหนึ่งในฟันเฟือง ที่ช่วยขับเคลื่อนให้บ้านเรา เข้าสู่การเป็นประเทศ Circular Economy ที่ยั่งยืนแล้วล่ะ
—
อ้างอิง
- www.the101.world/circular-economy/
- www.rubiconglobal.com/blog-10-circular-economy-companies/
- www.allaroundplastics.com/article/sustainability/2113
- www.ellenmacarthurfoundation.org/explore
- www.circle-economy.com/the-7-key-elements-of-the-circular-economy
- medium.com/circulatenews/which-country-is-leading-the-circular-economy-shift-3670467db4bb
Sorry, the comment form is closed at this time.